JayJootar.com

Technology, Strategy & History

Hi-tech startup เมืองไทย ความฝัน หรือสิ่งที่เป็นไปได้? (ตอนที่ 1)

10 October, 2010

วันนี (10 ตุลาคม 2553) ผมมีโอกาสไปเป็น guest speaker ใน Entrepreneur sessionที่งาน Google DevFest Bangkok 2010 เป็นงานที่ Google มาโชว์เคสเทคโนโลยีต่างๆที่น่าสนใจมาก นอกจากผมก็มีคุณภาวุธ (tarad.com) คุณหมอจิมมี่ ผู้มาเป็นโปรแกรมเมอร์ด้วยความจำเป็นแต่สามารถส่งซอฟท์แวร์ไปขายต่างประเทศได้เป็นกอบเป็นกำ และน้อง Gat จากบริษัท LevelUp ผู้ทำเกม facebook น้องใหม่

ความคิดหลายอย่างตกผลึกจากการตอบคำถามในงานนี้ ผมเลยมาเขียนเก็บเอาไว้ที่นี่เผื่อจะมีประโยชน์กับหลายๆท่านที่มีฝันร่วมกับผมและอยากสร้างบริษัท hi-tech startup ในเมืองไทย ผมจะเขียนเป็น series นะครับโดยแต่ละบทความจะเขียนเพื่อตอบประเด็นแต่ละเรื่องที่ได้มีการพูดคุยกันในวันนั้นและสิ่งอื่นๆที่ผมคิดได้หลังจากงาน

การสร้างบริษัท hi-tech ในเมืองไทยมีข้อดีข้อเสียอย่างไร ?

นี่เป็นคำถามแรกที่ผมมีหน้าที่ตอบในงานนี้

ผมเชื่อว่าทุกคนที่อุตส่าห์เดินทางมาฟังถึงงานนี้อยากสร้างธุรกิจ hi-tech ในเมืองไทยทั้งนั้นไม่มากก็น้อย พนักงาน Google ที่มาร่วมในงาน ผมรับรู้ความรู้สึกได้เลยว่าอยากให้ Google มาเปิด office ในเมืองไทยจะได้ทำงานที่บ้านเกิดเมืองนอน ผมเองก็อยากทำธุรกิจ hi-tech เลยตั้งบริษัท Venture Catalyst ขึ้นมาเพื่อช่วยด้าน funding และด้าน consult ให้กับ hi-tech startup ในเมืองไทย

จริงๆผมไม่อยากจะทำให้คนที่ฟังเสียกำลังใจ แต่จากประสบการณ์ผมทั้งหมดผมสรุปได้เพียงอย่างเดียวว่า เมืองไทยมีข้อเสียหรือข้อจำกัดในการสร้างบริษัท hi-tech มากกว่าข้อดีอย่างมากมาย แต่ถึงจะไม่อยากทำให้เสียกำลังใจ ผมก็คิดว่าทุกคนที่ทำงานสายนี้ควรทำทั้งที่รู้ความเป็นจริงมากกว่าที่จะทำเพราะเพ้อฝันและหลงเข้าใจผิดไป เลยต้องเล่าความจริงให้ทุกคนฟัง อย่างน้อยก็จากมุมผม (และผมก็ยังทำงานนี้อยู่ดี แสดงว่ามันต้องมีทางไปได้ แล้วจะอธิบายให้ฟังว่าทำไมนะครับ)

ข้อดีของเมืองไทยที่ผมคิดได้คือบ้านเมืองเราน่าอยู่ สถานที่ท่องเที่ยวสวยงาม อาหารอร่อย คนนิสัยดี (คน Google มาบอกในงานว่า Google Singapore อาหารแย่มาก โดยเฉพาะผัดไทย ถึงขนาดกุ๊กโดนไล่ออก อะไรจะปานนั้น) ? จะเห็นว่าไม่เกี่ยวอะไรกับ hi-tech ทั้งสิ้น

ข้อเสียของการสร้างธุรกิจ hi-tech ในเมืองไทยมีหลายเรื่อง เรื่องที่สำคัญที่สุดในความคิดผมคือเรื่องของศักยภาพตลาด hi-tech ในเมืองไทยเอง ในงานผมบอกว่าตลาด hi-tech ในเมืองไทยมีขนาดเล็ก เวลามันกระชับผมเลยพูดสั้นไปหน่อย จริงๆที่ผมจะบอกคือตลาดที่สามารถรองรับการสร้างบริษัท hi-tech startup ในเมืองไทยนั้นมีขนาดเล็กเกินไป

ผมอยากจะชี้ความแตกต่างระหว่างการสร้าง hi-tech startup ขึ้นมาในเมืองไทย กับการเอาสินค้า hi-tech จากต่างประเทศเข้ามาขายในเมืองไทย ไอ้อย่างหลังไม่มีปัญหาครับ ทำได้ มีคนได้รายได้ดีจากการเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้า hi-tech จากต่างประเทศมากมาย แต่อันนี้ไม่ใช่สิ่งที่เรากำลังพูดกัน เวลาพูดถึง hi-tech startup เราหมายถึงการสร้างสินค้าบริการ hi-tech ไม่ใช่แค่การเอามาขาย (แต่ไม่ได้มีอะไรเสียหายนะครับ แค่คนละประเด็น)

ที่ผมบอกว่าตลาดเล็กไปสำหรับ hi-tech startup ผมขอแตกรายละเอียดอธิบายทีละ segment ให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นนะครับ

1. ตลาดซอฟท์แวร์สำหรับ consumer

มองรอบตัวคุณว่ามีสักกี่คนที่ซื้อซอฟท์แวร์ลิขสิทธ์ใช้ครับ…. เห็นภาพนะครับ คุณหมอ Jimmy ที่อยู่ใน Panelist สามารถขายซอฟท์แวร์สำหรับ consumer ได้ แต่ขายที่ยุโรปนะครับ คือคุณหมอแกทำซอฟท์แวร์ดีมากแต่แจกฟรีเพื่อโปรโมทก่อน แต่แจกเพลินจนฝรั่งที่ทำซอฟท์แวร์คล้ายๆกันต้องบอก เฮ้ยมึงเลิกให้ฟรีสักทีตูขายไม่ได้เลย คุณหมอบอกก็ไม่รู้จะขายยังไงนี่หว่า เมืองไทยแมร่งใช้ของเถื่อนกันทั้งนั้น ไปๆมาไอ้ฝรั่งคนนั้นเลยมาเป็นพาร์ทเนอร์ช่วยขายซอฟท์แวร์ไปตลาดยุโรปจนได้เรื่องได้ราว เป็น success story ที่ฟังแล้วน่าสนใจ ขำดี

คุณหมอบอกเองว่าขายที่เมืองไทยตอนนั้นยังไงก็มองไม่ออกว่าจะขายยังไงในตอนนั้น ผมคิดว่าถึงตอนนี้ก็ยังยากอยู่ครับ สรุปคือขายซอฟท์แวร์สำหรับ consumer เมืองไทยลำบากจริงๆ ถ้าจะทำจริงๆขายต่างประเทศไปเลยดีกว่า อย่างที่คุณหมอทำ ส่วนอีกตัวอย่างที่บางคนอาจใช้แย้งข้อนี้ของผมคือ Asiasoft ซึ่งก็ขายเกมซึ่งถือเป็นซอฟท์แวร์ให้กับ consumer ในเมืองไทย ต้องบอกว่า Asiasoft เป็นลักษณะของ Game publisher มากกว่า คือเอาเกมที่ซื้อจากที่อื่นมาทำการตลาดในเมืองไทย (ไม่ได้มีอะไรเสียหายนะครับ คุณเจ้าของท่านก็รวยไป แค่ไม่ใช่ hi-tech startup ในรูปแบบที่เรากำลังคุยกันอยู่)

2. ตลาดฮาร์ดแวร์สำหรับ consumer

ถ้าคุณตั้งบริษัททำฮาร์ดแวร์ขึ้นมาขาย consumer ในเมืองไทย สิ่งที่จะเสียเปรียบคู่แข่งที่มาจากประเทศใหญ่ๆอย่างจีนก็คือ economy of scale ผู้ผลิตในประเทศใหญ่มีข้อได้เปรียบเพราะแค่สามารถเอาผลิตภัณฑ์ขายในประเทศตัวเองได้ก็สามารถสร้าง economy of scale ได้แล้ว เมื่อราคาต่ำลงจาก economy of scale ก็สามารถเอาไปขายประเทศอื่นๆได้อีก ประเทศเราเล็กเมื่อเทียบกับประเทศพวกนั้น แข่งกันยากหน่อยครับ ตัวอย่างที่เป็นข้อยกเว้นที่ผมเห็นคือ Talking Dict ซึ่งใช้ความได้เปรียบทางด้านภาษาไทยซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดีและน่าเอาแบบอย่างสำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีความเกี่ยวข้องกับภาษานะครับ ยังไงคนไทยก็เก่งภาษาไทยกว่าชาติอื่น (อย่างน้อยก็ตอนนี้นะครับ)

3. ตลาดซอฟท์แวร์และฮาร์ดแวร์สำหรับ SME

คุณภาวุธ บอกในงานว่าควรทำขายสินค้าบริการที่ทำให้ธุรกิจทำรายได้มากขึ้น อย่าไปทำอะไรที่เพิ่มประสิทธิภาพอะไรเลยเพราะเขาไม่สนใจหรอก ผมอยากจะบอกว่าเห็นตรงกันเป๊ะ ผมเห็นด้วย 1000%

อันนี้จากประสบการณ์โดยตรงของผมตอนที่อยู่ที่ True ผมเคยเอาสินค้าบริการหลายอย่างไปขาย SME ส่วนใหญ่ที่ประสบความสำเร็จขายได้คือสิ่งที่ช่วยด้านการขายการตลาด ให้เกิดรายได้ขึ้นมาแบบจับต้องได้ อะไรที่บอกมาสร้างความแตกต่าง มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ขายไม่ออกครับ ฝุ่นจับหนาเตอะเลย ผมเคยขายสินค้าบริการที่นอกแนวนี้ได้อยู่เหมือนกัน เป็นแบบที่ลดต้นทุนแต่ลดแบบทันตาเห็น เลยขายได้ แต่พวกนี้ก็ไปไม่ได้ไกลนักเพราะถ้าจุดขายคือราคาแล้วส่วนเราก็ต้องลดราคาแข่งกันอยู่ร่ำไปจนกว่าจะขาดทุนกันไปข้างนึง

เพราะอะไรหรือครับ ผมฟันธงว่าเพราะกลยุทธ์ธุรกิจ SME ไทยส่วนใหญ่เน้นขายอย่างเดียว ไม่เน้นสร้างความแตกต่างของสินค้าบริการอย่างจริงๆจังๆ อย่างมากคือ packaging เพราะฉะนั้นเครื่องไม้เครื่องมือ IT ที่เอามาช่วยสร้างความแตกต่างอะไร พูดไปเถอะครับแทบจะไม่ได้รับความสนใจเลย เอายอดขายไว้ก่อน โฆษณาไม่ได้ผลก็ลดราคา Sanook.com Tarad.com Kapook.com Pantip.com ทั้งหลายแหล่ก็ได้รายได้จากโฆษณาบ้างหน้าร้านออนไลน์บ้าง ล้วนแล้วแต่เกี่ยวกับแนวเพิ่มรายได้ทั้งนั้น เพราะยอดขายระยะสั้นคือเป้าหมายสูงสุดเป้าหมายเดียว ของ SME ไทยส่วนใหญ่

เพราะฉะนั้นไม่แปลกใจว่าเทียบกับประเทศอื่นๆแล้ว SME ไทยถือว่ามีการเอา IT มาใช้เป็นส้ดส่วนที่น้อยมาก ถ้า SME เราสนใจการนำเอา IT มาช่วยธุรกิจในด้านอื่นๆมากกว่านี้เราก็น่าจะเห็นธุรกิจ hi-tech ที่มีความหลากหลายมากกว่านี้ ผู้ประกอบการ hi-tech จะมากกว่านี้ แต่เท่าที่เราเห็นๆก็จะไปในแนวทางที่คล้ายๆกันกับตัวอย่างที่ผมยกมาหลายเว็บไซต์

4. ตลาดซอฟท์แวร์และฮาร์ดแวร์สำหรับองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่

เทียบกับตลาดที่พูดมาทั้งหมดผมมองว่าตลาดนี้เป็นตลาดที่มีศักยภาพที่สุด มีเงิน และ มีการวางแผนระยะไกลที่ทำให้เรื่องของการสร้างความแตกต่างแบบที่ต้องนำเอาเทคโนโลยีมาใช้เป็นสิ่งที่ผู้บริหารคำนึงถึง แต่ตลาดนี้ก็มีประเด็นอยู่เหมือนกันคือเนื่องจากองค์กรใหญ่ มีเงิน ก็สามารถซื้อของแพงๆจากต่างประเทศได้ ไม่จำเป็นต้องเสี่ยงกับสินค้าใหม่ในประเทศที่ยังไม่ได้พิสูจน์ตัวเอง

อีกเรื่องหนึ่งคือส่วนใหญ่กระบวนการจัดซื้อใช้เวลาพอสมควร และมีผู้ตัดสินใจหลายคน และกระบวนการตัดสินใจบางครั้งก็ขึ้นอยู่กับการเมืองภายในองค์กร (เทียบกับ SME ที่ส่วนใหญ่เถ้าแก่ตัดสินใจหมด) โจทย์คือหาองค์กรที่มีวิสัยทัศน์ หรือ องค์กรที่อยากช่วยบริษัท hi-tech ไทยให้เกิด ซึ่งผมมั่นใจว่ามีครับ เพราะตัวเองก็เจอๆอยู่ โจทย์คือต้องหาองค์กรเหล่านี้ให้เจอ และพยายามเข้าให้ถูกช่องทาง

5. ตลาดซอฟท์แวร์และฮาร์ดแวร์สำหรับราชการ

เป็นตลาดที่ใหญ่มาก แต่อย่างที่เราพอรู้กันอยู่ว่าตลาดนี้โดยส่วนใหญ่มีกระบวนการตัดสินใจที่ยากแท้หยั่งถึงได้ เฉพาะคนที่อยู่วงในเท่านั้นที่จะเข้าใจ ผมคิดว่าเพราะที่การตัดสินใจมีปัจจัยอื่นที่อาจจะไม่เกี่ยวกับ merit ของตัวสินค้าบริการ (พูดแค่นี้นะครับ คิดเอาเองว่าหมายถึงอะไร) ตลาดนี้จึงเป็นพื้นฐานที่ไม่ดีนักกับการสร้างบริษัท hi-tech startup

ที่คิดอย่างนี้เพราะการสร้างบริษัทไม่ใช่แค่มีเงินเข้าจากลูกค้าก็พอ การสร้างบริษัทคือการสร้างคน สร้างทีม และสร้างวัฒนธรรม พนักงานและองค์กรต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวและแข่งขัน เพื่อเพิ่มความสามารถมากขึ้นเรื่อยๆและขยายตลาดให้กว้างไกลออกไป ถ้ามีสภาพการแข่งขันที่เหมือนกับการแข่งขันจริงในตลาดที่จะขยายไป องค์กรก็จะเก่งในทางที่ถูกขึ้นเรื่อย แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าสภาพการแข่งขันเน้นการใช้กำลังภายในในแบบฉบับของรายการไทย องค์กรก็จะหันไปเก่งในทางนั้น ปัญหาก็คือความเก่งแนวนี้มันเอาไปใช้อะไรไม่ได้หรือใช้ได้น้อยในตลาดอื่น

หลายท่านอาจจะมองว่าใช้ตลาดนี้เป็นฐานไปในการสร้างสินค้าบริการไปก่อน แล้วพอไปตลาดอื่นๆก็ปรับตัวไปตามตลาดนั้น อันนี้แล้วแต่จะคิดนะครับ ส่วนตัวผมค่อนข้างจะเชื่อว่าจุดเริ่มต้นที่ไม่ดีมักส่งผลไปยาวไกลกว่าที่เราคิดเสมอ

พูดมาถึงจุดนี้ คุณผู้อ่านคงสงสัยว่าผมดูเหมือนจะไม่มีความเชื่อในการสร้างhi-tech startup ในเมืองไทยเลย แล้วผมตั้งบริษัท Venture Catalyst มาเพื่ออะไร

คำตอบคือผมรักในการทำ hi-tech startup ครับ เหมือนที่คุณ Alan Nobel Director ของ Google Australia พูดในงานว่า "Life is too short, just do what you love? หรืออะไรประมาณนี้ ผมรักงานนี้ และที่สำคัญผมรักเมืองไทย ผมต้องการจะทำงาน hi-tech startup ในเมืองไทย ถ้าผมรัก hi-tech มากกว่าผมจะทำงาน hi-tech ที่อเมริกา ถ้าผมรักเมืองไทยมากกว่าผมจะเลือกเดินสายอื่นที่มีโอกาสชัดเจนกว่า hi-tech แต่ผมรักสองอย่างและผมไม่อยากเลือก ผมจึงทำ hi-tech ที่เมืองไทย

แต่ผมเป็นคนที่ถ้าทำอะไรต้องเห็นทางสำเร็จ เพราะฉะนั้นคงเดาได้ว่าผมตัดสินใจเลือกแนวทางนี้เพราะผมคิดว่าจากประสบการณ์ที่เจอด้วยตัวเองและการวิเคราะห์ในทุกด้าน ผมพอจะหาแนวทางที่เราจะสามารถสร้าง hi-tech startup ในเมืองไทยได้แล้ว และอยากที่จะแบ่งปันให้กับคนที่มีความฝันร่วมกัน

ในบทความถัดไปผมจะตอบคำถามถัดไปของ Google ว่าถ้าอยากสร้างธุรกิจ hi-tech ในเมืองไทยต้องทำอย่างไร? อย่าลืมติดตามนะครับ