JayJootar.com

Technology, Strategy & History

From Executive to Entrepreneur

April 11, 2016

บทความนี้เป็นสรุปเนื่อหาจากสิ่งที่ผมได้ไปพูดในงานของชมรม IOIC (Intania Open Innovation Club) ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นชมรมที่ต้องการสนับสนุนศิษย์เก่าให้สามารถสร้างนวัตกรรมออกไปเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการให้ประสบความสำเร็จ ผมไปพูดในฐานะศิษย์เก่าที่อยู่ในวงการเทคโนโลยีทั้งในฐานะของผู้บริหารองค์กรใหญ่ในอดีต และในฐานะผู้ประกอบการในปัจจุบัน

ในช่วงต้นผมเล่าประวัติส่วนตัว ถึงแม้เพื่อนและคนที่รู้จักส่วนใหญ่จะรู้จักผมแต่ในฐานะคนเรียนเก่ง แต่ในความจริงตลอดมาสิ่งที่ผมอยากทำจริงๆคือการสร้างอะไรใหม่ๆด้วยเทคโนโลยีออกมาให้คนใช้ และ ก็ได้แสวงหาประสบการณ์ที่เกี่ยวกับธุรกิจเทคโนโลยีมาตลอด เริ่มจากในด้านการวิเคราะห์หุ้น และ งานวาณิชธนกิจ (Investment Banking) ของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในช่วงกำลังบูมยุค 90's

ในช่วงที่ยังเรียนโทและเอกที่ MIT ก็ได้อาศัยบารมีอาจารย์หลายๆท่านเข้าไปเป็นที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ให้บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำในสหรัฐอเมริกาหลายบริษัท เช่น Intel, Verizon, ITT Industries, รวมถึง Startup หลายๆบริษัทที่สหรัฐฯ หลังจากนั้นก็กลับมาประเทศไทยเป็นผู้บริหารที่ True เข้ามาจับงานพัฒนาผลิตภัณฑ์หลายต่อหลายตัวอยู่ถึงเกือบ 7 ปี โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ต (ซึ่งปัจจุบันคำว่าดิจิตอลดูจะอินเทรนด์กว่า) หลังจากนั้นออกมาตั้งบริษัทเทคโนโลยีของตัวเอง The VC Group ถึงวันนี้ได้อีกเกือบ 7 ปีแล้ว

มองย้อนกลับไป 20 กว่าปีตั้งแต่ผมจบตรีและวนๆอยู่ในวงการนี้มาตลอด ผมเห็น cycle ของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีมา 3 รอบ แต่ละรอบเริ่มจากช่วงตื่นทองมีผู้เล่นมากมายจนถึงช่วง consolidation ที่มีผู้ชนะอย่างชัดเจน เริ่มต้นจาก cycle แรกคือ Telecom ในยุคที่บริการโทรศัพท์มือถือกำลังขยายตัว เกิด startup ผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมมากมาย ใน cycle ที่สองคือยุค dot com ก็เกิด startup ในรูปแบบเว็บไซต์เป็นดอกเห็ด และใน cycle ที่สามคือยุค Mobile ก็มี startup ในรูปแบบของ App มากมายตามที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้

ในยุคที่ Tech Startup กำลังบูมสุดๆในตอนนี้ ผมเองก็มีข้อคิดที่อยากจะแบ่งปันทั้งสำหรับคนที่ทำงานในด้านนี้อยู่แล้ว และคนที่กำลังจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมนี้เป็นข้อๆดังนี้นะครับ

1. โอกาสทองที่มาจากกระแส Tech Startup

… กลับไม่ใช่การกระโดดมาทำ Tech Startup ในยุค gold rushในสหรัฐฯคนที่รวยไม่ใช่นักล่าทอง แต่เป็นคนที่ขายจอบ ขวาน อุปกรณ์และอื่นๆให้กับนักล่าทอง …ในยุคที่มี Tech Startup จากทั่วโลกออกมาล่าฝัน สร้างสื่อและช่องทางออนไลน์ใหม่ๆออกมา โดยฝันว่าจะได้รวยมากและรวยเร็ว คนที่จะได้อานิสงค์โดยตรงได้แก่ Digital Marketer ผู้เข้าใจการใช้สื่อและช่องทางใหม่ๆเหล่านี้และให้คำปรึกษากับองค์กรต่างๆรวมทั้งนักล่าฝันเอง, Merchant พ่อค้าแม่ค้าที่สามารถใช้ช่องทางดิจิตอลซึ่งส่วนใหญ่ฟรีเพื่อขายสินค้าบริการกันอย่างคล่องมือ, Developer และ Graphic Designer ผู้ที่จะมาช่วยเหล่านักล่าฝันทั้งหลายสร้างผลิตภัณฑ์ออกมา, Data Scientist ที่จะประมวลผลข้อมูลเพื่อช่วยสร้างความกระจ่างใช้ประเมินว่าฝันใกล้เป็นความจริงหรือยัง, และ Venture Capital ที่จะช่วยเป็นสะพานเชื่อมนักล่าฝันกับคนมีเงินถุงเงินถัง (Limited Partner) ที่อยากได้ผลตอบแทนการลงทุนงามๆ ให้มีโอกาสเข้ามามีเอี่ยวกับความฝันนี้

2. โมเดลธุรกิจสื่อโฆษณา (Media)

เป็นโมเดลที่ Tech Startup ตั้งแต่ยุค Yahoo, Google เรื่อยมาจนถึง Facebook ใช้ในการสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำและสร้างกำไรมหาศาลจนสามารถนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้และทำให้ผู้ถือหุ้นและพนักงานรวยกันไปตามๆกัน สำหรับบ้านเราผู้เล่นที่เกิดขึ้นในยุค dot com ก็ใช้โมเดลสร้างรายได้นี้แทบทุกราย ไม่ว่าจะคิดเป็นค่า banner หรือ ค่าเช่าร้านออนไลน์ หรือ คิดเป็นค่าอื่นๆ แต่โมเดลนี้โอกาสทำรายได้น้อยลงเรื่อยๆเนื่องจากความเข้มแข็งของผู้เล่นรายใหญ่อย่าง Google, Facebok, Line นั้นเข้ามาเบียดจนผู้เล่น Local เหนื่อยกันไปตามๆกัน ผู้เล่นรายใหญ่เหล่านี้ไม่ได้มีแค่ฐานผู้ใช้งานที่ใหญ่มหาศาล แต่ยังมีความสามารถในการคัดกรองแยกประเภทผู้ใช้งานเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ลงโฆษณาได้ target ผู้รับชมได้อย่างละเอียดและชัดเจน (โดยเฉพาะ Google และ Facebook) เหลือผู้เล่น Local ที่ยังยืดหยัดอยู่ได้อยู่ไม่มาก (ขอเอาใจช่วยด้วยนะครับ) สำหรับผู้เล่นหน้าใหม่นั้นก็ไม่ควรเลือกทางนี้เป็นทางทำเงิน

3. โมเดลธุรกิจ end-to-end

เมื่อโมเดลสื่อโฆษณาเริ่มจะยากขึ้นทุกวันๆ ก้าวถัดไป (natural next steps) ของ Tech Startup ก็คือกระโดดเข้าไปเป็นผู้ขายสินค้าหรือบริการซะเองโดยไม่ต้องง้อค่าโฆษณา ได้เงินส่วนแบ่งจากสินค้าหรือบริการเหล่านั้นโดยตรงด้วยการอำนวยความสะดวกให้ทั้งผู้ใช้และผู้ให้บริการ ตัวอย่างเช่น Uber หรือ Airbnb โมเดลนี้เป็นอนาคตทางนึงของ Tech Startup ซึ่งพูดง่ายแต่ทำไม่ง่าย ถ้าเป็นการขายสินค้า Digital แบบ pure ก็อาจจะถูกเลียนแบบได้ไม่ยากโอกาสกระโดดเข้าไปใน red ocean สูง ส่วนถ้าจะก้าวเข้าไป facilitate real goods & services จะมีเรื่องยุ่งยากทาง logistics ก็ต้องการความเข้าใจใน pain point ของอุตสาหกรรมนั้นๆอย่างลึกซึ้ง แต่ถ้าทำได้ก็จะสร้าง barrier to entry ได้ดีกว่า pure digital goods

4. IOT (Internet of Things)

มีกระแส IOT ออกมามากมายดูเหมือนเป็นอีก cycle ของเทคโนโลยี โดยส่วนตัวผมคิดว่าโอกาสด้าน IOT ไม่อยู่ในรูปของการขายอุปกรณ์เฉยๆแต่เป็นการรวมกับบริการ end-to-end ข้อ 3 เพื่อให้สามารถให้บริการบางอย่างได้อย่าง end-to-end โดยมีอุปกรณ์เป็นองค์ประกอบนึงของบริการนั้นๆ จริงๆแล้วอุปกรณ์บางตัวไม่มีความหมายเลยถ้าไม่มี end-to-end service รองรับ ลองนึกว่าเครื่องเตือนคนแก่ล้มจะมีประโยชน์อะไรถ้าไม่ได้มี service ที่เข้ามารองรับถ้าเกิดเหตุการณ์ล้มขึ้นจริงๆ ในฐานะของคนที่เคยทำธุรกิจที่เกี่ยวกับอุปกรณ์ในสมัยเป็นผู้บริหารและปัจจุบันก็ยังทำธุรกิจเกี่ยวกับอุปกรณ์อยากจะขอแนะนำว่าให้มองอุปกรณ์เป็นส่วนนึงของบริการที่สามารถต่อยอดและสร้างรายได้ต่อไปได้ อย่าคิดแค่ว่าจะได้กำไรจากอุปกรณ์เพราะในระยะยาวนั้นภาระการ support นั้นมากมายเหลือเกินไม่ว่าคุณจะออกแบบมาดีแค่ไหนก็ตาม

5. Big Data Analytics

เป็นเรื่องนึงที่ผมคิดว่าจะต้องเข้าไปเกี่ยวกับทุกอุตสาหกรรมและทุกโมเดลธุรกิจอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อ 4 IOT ซึ่งถ้าขาด Analytics ไปแล้วก็แทบจะไม่ได้ add value อะไรเลยสำหรับผู้ใช้งาน อย่างไรก็ดีตอนนี้ hype เรื่องนี้ก็เยอะแยะมากมายเต็มไปด้วย noise จับต้นชนปลายไม่ถูก ส่วนใหญ่จะ hype กันเรื่อง tools แต่ในความจริงเรื่องที่สำคัญที่สุดและยากที่สุดคือการ apply tools เพื่อตอบโจทย์กลยุทธ์ธุรกิจ

6. ข้อคิดเกี่ยวกับการบริหารองค์กรที่พัฒนานวัตกรรม ทั้ง Enterprise และ Tech Startup

  • นวัตกรรมควรช่วยแก้ปัญหาที่สำคัญของผู้ใช้งานและสังคม ในโลกนี้มีปัญหาสำคัญๆเยอะแยะมากมายที่คู่ควรแก่ความพยายามขององค์กรที่พัฒนานวัตกรรม ควรพยายามหลีกเลี่ยงสร้างนวัตกรรมที่แค่มาใช้แก้ปัญหาความอยากรวยเร็วอยากดังเร็วของผู้ก่อตั้งหรือปัญหาหา Tech Startup ไปปั่นขายของนักลงทุน
  • ซอฟท์แวร์และคอนเทนท์คือหัวใจของนวัตกรรมในโลกดิจิตอล ไม่นานมานี้ซอฟท์แวร์เป็น focus หลักของนวัตกรรม แต่ปัจจุบันคอนเทนท์เข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆและในอนาคตน่าจะทัดเทียมกับซอฟท์แวร์ในการทำนวัตกรรมไม่ว่าด้านใดก็ตาม ดังนั้นบุคคลากรไม่ว่าจะเป็น Dev และคนทำ Content จึงมีบทบาทสำคัญมากกับความสำเร็จในการผลักดันนวัตกรรมออกมา
  • ทีมงานคือสิ่งสำคัญที่สุดในการผลักดันผลงานออกมา ในโลก Tech Startup ตอนนี้เป็นโรค Steve Jobs syndrome กันมาก เป็น cult of CEO ที่มองว่าผลสำเร็จของบริษัทมาจาก CEO ในความเป็นจริงแล้วทีมงานสำคัญยิ่งยวดเพราะไม่มีทางที่คนๆเดียวจะทำให้ผลงานเกิดขึ้นได้ถ้าไม่มีทีมงานที่ทำงานร่วมกันอย่างเยี่ยมยอด
  • CEO ที่เก่งต้องเป็นนักจิตวิทยาด้วย เพราะการ run ธุรกิจประเภทนี้เป็นเรื่องของคนล้วนๆ CEO คือผู้นำสูงสุดขององค์กรจะต้องเข้าใจตัวเอง เข้าใจผู้อื่น สามารถ manage ตัวเองและทีมงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงต้องมีความสามารถในการเข้าใจจิตวิทยาในระดับสูง หน้าที่สำคัญมากของ CEO คือการดึงดูดคนเก่งให้เข้ามาร่วมงานและทำทุกวิถีทางที่จะทำให้เขาทำงานได้อย่าง productive และถูกทิศทาง

7. ข้อคิดสำหรับ Enterprise เกี่ยวกับโลกดิจิตอล

ในฐานะของคนที่เคยทำงานในองค์กรขนาดใหญ่หรือ Enterprise มาก่อนต้องยอมรับว่าผมมีความเป็นห่วง Enterprise ไทยที่ผมมองว่าเป็นความหวังในการพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้ก้าวไปอีกระดับ พ้นจาก Middle-Income Trap ด้วยความที่ Enterprise มีทรัพยากรเพียบพร้อมทั้งเงินและคนมากกว่าองค์กรขนาดเล็ก

ในความเป็นจริง Tech Startup ก็มีโอกาสเติบโตขึ้นเป็น Enterprise ในระดับอย่าง Google, Apple และ Facebook ได้ ซึ่งถ้าเป็นได้อย่างนั้นก็เยี่ยมที่สุด เพราะถ้ามีองค์กรอย่างนั้นอยู่ในเมืองไทยนั่นแปลว่าประเทศเรากระโดดไปอีกขั้นเรียบร้อยแล้ว แต่ผมค่อนข้างมั่นใจว่าด้วยความยากลำบากในการปั้น Tech Startup ขึ้นมานั้น ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็หวังที่จะ Exit เร็วๆได้ Return ให้คุ้มค่าเหนื่อยกันทั้งนั้น เป็นไปได้สูงว่า Tech Startup ที่ประสบความสำเร็จท้ายสุดก็จะตกเป็นของต่างชาติที่อยากจะเข้ามา disrupt อุตสาหกรรมในบ้านเรา

จริงๆการที่ต่างชาติเข้ามา disrupt อุตสาหกรรมบ้านเราถ้าทำให้ผู้บริโภคได้ทางเลือกมากขึ้นบริการที่ดีขึ้นก็เป็นสิ่งดีและควรยอมรับ Google, Facebook และ Line เข้ามาแย่งส่วนแบ่งรายได้ค่าโฆษณา รายได้ค่า SMS (หายไปเยอะมากๆ) และรายได้อื่นๆจากอุตสาหกรรมไทยกี่อุตสาหกรรมไปเท่าไรผมไม่ทราบ แต่เมื่อเทียบกับบริการที่ได้รับผมเชื่อว่าทุกคนต้องมองว่าคุ้ม แต่ถ้าบริษัทไทยด้วยกันเอง ตั้งอยู่ที่เมืองไทย สร้างงานให้กับคนไทย เป็นผู้ที่เข้ามาเป็นผู้นำเสนอบริการต่างๆเหล่านี้ก็ย่อมดีกว่าแน่นอน

การเปลี่ยนแปลงที่มาจากโลกดิจิตอลเป็นทั้ง Opportunities และ Threats สำหรับ Enterprise แต่ผมมองว่าสิ่งที่ผู้บริหาร Enterprise ควรทำคือการ Partner กับ Tech Startup หรือบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีซึ่งมีความคล่องตัวและมี skill เฉพาะทางบางอย่างมากกว่าคนในองค์กร เพื่อเก็บเกี่ยว Opportunities ให้มากที่สุดแทนที่จะตั้งรับและปล่อยให้กลายเป็น Threat แค่อย่างเดียว อย่ารอจนถูก disrupt แล้วค่อยมานั่งคิดว่าจะทำอย่างไรดี

และการ treat partner ไม่ว่าจะเป็น Tech Startup หรือบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีรูปแบบใดก็แล้วแต่ 1. ถึง partner จะเป็นบริษัทเล็กหรือถึงขั้นจิ๋วก็ ควร sincere ในการแบ่ง upside gain 2. ควรยอมรับว่าต้องมี mistake เกิดขึ้นซึ่งเป็นธรรมชาติของนวัตกรรมทุกประเภทและ 3. ควร assign supervisor ที่มีทัศนคติและความสามารถที่เหมาะสมในการประสานงานกับ partner จึงจะทำให้เพิ่มโอกาสในการประสบความสำเร็จจาก partnership


ในตอนท้ายผมเล่าเกี่ยวกับ Role Model ของผมในเรื่องนวัตกรรมซึ่งไม่ใช่คนในยุคดิจิตอล แต่เป็นพระพุทธเจ้า ท่านที่สนใจว่าทำไมท่านถึงเป็น Role Model ผมในเรื่องนวัตกรรม หรือสนใจเรื่องที่เกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีมาตอบโจทย์กลยุทธ์ธุรกิจ สามารถติดตามผมได้ทาง Facebook แล้วผมจะเขียนมาให้อ่านกันนะครับ