JayJootar.com

Technology, Strategy & History

“เก้า” ปีที่ผ่านไป “ก้าว” ต่อไปที่จะเดิน

September 8, 2018

เวลาที่ผ่านไปอย่างรวดเร็ว แสดงว่าคุณสนุกกับสิ่งที่ทำ หรือไม่ก็เหนื่อย จนลืมวันลืมเวลา

เวลา 9 ปีนับตั้งแต่ผมตั้งบริษัท ผ่านไปเร็วมาก ทั้งสนุกและเหนื่อยจนลืมวันเวลา ประสบการณ์ที่ได้ก็มีคุณค่าเกินกว่าจะเก็บไว้จดจำคนเดียว

วันนี้ 9/9 วันครบรอบ 9 ปีในการตั้งบริษัท ผมจึงถือโอกาสเล่าเรื่องราวที่ผ่านมาของบริษัท Mor Corporation ให้ได้ฟังกัน

เป็นเรื่องราวของบริษัทเทคโนโลยีขนาดกลางบริษัทนึง ที่ผ่านการผจญภัยมาโลดโผนมากมาย และไม่เคยเล่าให้ใครฟังมาก่อน โดยหวังจะเป็นประโยชน์กับคนที่ได้อ่านในการเอาไปใช้เป็นข้อคิดหรือบทเรียนอะไรบางอย่าง

ผู้บริหารบริษัทมหาชน

ก่อนมาตั้งบริษัท ผมเป็นผู้บริหารที่ ทรู คอร์ปอเรชั่น มาได้เกือบ 7 ปี เพิ่งแต่งงานได้ 3 เดือน เพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็น General Manager เจ้านายรัก ลูกน้องทุกคนน่ารัก งานกำลังไปได้ดี

ไม่มีเหตุผลอะไรที่ผมจะลาออก

มีเหตุผลเดียวคือ "ความคัน"

ผมจบวิศวะฯจุฬาที่หนึ่งของคณะ แต่ผันตัวเองมาเรียนต่อโทการเงิน เอกบริหาร ที่อเมริกา (MIT) และงานที่ทำก็ทำด้านการเงินและการบริหารตั้งแต่จบตรี ไม่เคยทำงานวิศวะฯเลย

ที่เปลี่ยนสาย ก็เพราะคำแนะนำของอาจารย์และผู้ใหญ่หลายคนรอบข้างที่หวังดี ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าทำงานวิศวะฯในเมืองไทยไม่เจริญ ไปทำการเงินหรือบริหารก้าวหน้ากว่า

ซึ่งคำแนะนำเหล่านี้ ผมก็รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องจริง

แต่แม้ว่างานจะไปได้ดีแค่ไหนผมก็เริ่มรู้สึก "ไม่อิ่ม" กับงานที่ทำ

ในฐานะผู้บริหาร ผมไม่มีหน้าที่ไปทำงาน Dev (ออกแบบ เขียนโค้ด ทดสอบ ฯลฯ) โดยตรง

ผมมีหน้าที่ให้ Requirement และบอกให้ทีมพัฒนาไป Dev ตาม Requirement นั้น

ผมเริ่มอยากลงไป Dev เอง

พูดง่ายๆคืออยากลงไป "แย่งงานลูกน้องทำ" เพราะรู้สึกมัน "สนุก" กว่างานบริหารของตัวเองที่เริ่มเป็นงาน "การเมือง" มากขึ้นเมื่อตำแหน่งสูงขึ้น

ซึ่งหลังจากนั้น ผมก็สามารถแย่งงานลูกน้องได้สำเร็จ มีงานบางอย่างที่ซับซ้อนและต้องมีพื้นฐานการวิเคราะห์ขั้นสูงที่เกิน Dev ทั่วไป ปริญญาเอกของผม กลายเป็นเครื่องมือในการอ้างเอางานลูกน้องมาทำอย่างสมเหตุสมผล

สุดท้ายก็ได้ทำงาน Dev สมใจ

จากที่ทิ้งการเขียนโค้ดมานาน ก็ได้กลับมาเริ่มเขียนโค้ดอีกครั้ง เริ่มมาศึกษา Opensource component ต่างๆ เอาเข้ามาประกอบกับเป็นระบบ

เปรียบเหมือนเสือที่ไม่ได้กินเนื้อมานาน พอได้กินเนื้อ สัญชาติญาณเสือก็กลับมา

พอผมเริ่มกลับมาแตะเทคโนโลยี ผมก็เริ่มจินตนาการว่าด้วยเทคโนโลยีที่มีเราสามารถทำอะไรได้บ้าง

ยิ่งคิดไปก็ยิ่งเกิด "ความคัน" และอยากจะทำทุกอย่างที่จินตนาการไว้

"ความคัน" มันมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงจุดนึง ภรรยาจึงบอกประมาณว่า "ถ้าอยากทำขนาดนี้ ออกมาทำเองแล้วกัน"

จริงๆผมก็คิดมาซักพักแล้ว แต่ในเมื่อเมียอนุญาต ผมก็ทำในสิ่งที่สามีที่ดีทุกคนควรทำคือ "เชื่อฟังเมีย" (ทั้งที่จริงๆตัวเองก็อยากทำเองนั่นแหละ)

จึงได้เดินเรื่องเพื่อลาออกและจัดการตั้งบริษัทของตัวเองขึ้น

VC and Startup

ด้วยความที่ผมทำงานด้านการพัฒนาธุรกิจใหม่ (Business Development) มาตลอด ผมจึงรู้ซึ้งเป็นอย่างดีกว่าการออกมาตั้งบริษัท ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตั้งบริษัทเทคโนโลยีในเมืองไทยเป็นหนังชีวิตที่น้ำตาท่วมจอแน่นอน

เนื่องจากผมจะอยากทำอะไรที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี ผมจึงเลือกอีกทางนึง คือการตั้ง Venture Capital ขึ้นมาในปี 2009 หลายปีก่อนที่คำนี้จะเป็นที่รู้จัก

สาเหตุที่ตั้ง VC แทนที่จะตั้งบริษัทเทคโนโลยีเลย เพราะผมคิดว่าการเป็น VC นั้นง่ายกว่า และเสี่ยงน้อยกว่า

ผมต้องขอเล่าตรงๆ หวังว่าเพื่อนๆพี่ๆน้องๆที่เป็น VC จะไม่เคือง

VC เอาเงินมาลงทุนใน Startup ถ้าแจ็คพอต ก็ได้กำไรไปด้วย แต่ถ้าเจ๊ง ก็บอกว่าเป็นธรรมชาติของธุรกิจเทคโนโลยีซึ่งมีความเสี่ยงสูง

แทง 10 ได้ 1

เอ้ยไม่ใช่สิ ลงทุน 10 ได้ 1

ดังนั้น ถ้ามีคนเชื่อ และเอาเงินมาลงทุน VC มีแต่ได้ ไม่เคยมีเสีย เป็นธุรกิจในฝันของหลายคน

คนที่เสี่ยงคือผู้ประกอบการ มีแต่ความเสี่ยง โอกาสได้มีน้อยมาก และถ้าได้ก็เหลือส่วนแบ่งน้อยนิดเพราะต้องเอาไปให้ VC และนักลงทุนประเภทอื่นๆที่เรียงคิวกันเข้ามา

แต่ถึงคิดจะตั้งบริษัทมาทำ VC ก่อน ผมก็ไม่ได้คิดว่าจะเป็น VC ไปตลอด เพราะใจนั้นชอบความตื่นเต้นของบริษัทเทคโนโลยีมากกว่า ดังนั้น VC จึงเป็นแค่แผนระยะสั้นเพื่อไปสู่จุดหมายจริงๆ

สิ่งที่ทำให้ประหลาดใจคือแม้ในยุคนั้น การหานักลงทุนนั้น "ง่ายกว่า" การหา Startup มากนัก นักลงทุนที่สนใจมีอยู่มาก แต่ Startup ที่น่าจะไปได้มีน้อย

นักลงทุนที่ผมได้คุยด้วยส่วนใหญ่เป็นองค์กรธุรกิจ (ปัจจุบันเราจะเรียกกลุ่มนี้ว่า Corporate Venture Capital) มากกว่าเป็นสถาบันการเงิน

องค์กรธุรกิจที่มีวิสัยทัศน์ในเรื่องของการลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีที่มีนวัตกรรมนั้นมีมานานแล้ว และค่อนข้าง active ในการหา Startup เพื่อลงทุนมานานมากก่อนคำนี้จะเป็นที่รู้จักกันเหมือนทุกวันนี้

แต่ในช่วงที่ผมกำลังคั่วดีลเพื่อเปิดกองทุน VC กับนักลงทุนที่รู้จักนั้น ก็มีโอกาสใหญ่เข้ามาที่ทำให้ผมตัดสินใจ skip การเป็น VC และกระโดดข้าม (อีกแล้ว) มาตั้งบริษัทเทคโนโลยีตามที่ตั้งใจแต่แรกเลย

Foxconn

ช่วงที่ผมกำลังตระเวนหานักลงทุนผมมีโอกาสไปหานักลงทุนในประเทศจีน หนึ่งในนั้นคือคนจีนที่ผมรู้จักมาก่อน เป็น Engineer สายเก๋า ที่เป็นผู้ก่อตั้งบริษัทเทคโนโลยีใน Silicon Valley เป็นคนรุ่นราวคราวเดียวกับ Steve Jobs และตั้งบริษัทของเขาหลัง Steve Jobs ตั้ง Apple ได้ไม่นาน

บริษัทประสบความสำเร็จสามารถเข้าตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ ได้ ร่ำรวยได้เงินมากมายเป็นมหาเศรษฐฐี แต่ด้วยการแข่งขันที่รุนแรงต่อมาภายหลังบริษัทเริ่มแข่งไม่ได้และขาดทุน แต่เขาก็ยังสามารถขายหุ้นได้ทันและอยากทำด้านเทคโนโลยีต่อ โดยพุ่งเป้าจะมาโตที่ประเทศจีน บ้านเกิด เมืองนอนของบรรพบุรุษ

ต่อมาพาร์ทเนอร์คนนี้ได้จับมือกับ Foxconn ผู้ผลิตอิเลคทรอนิกส์อันดับ 1 ของโลก ผู้ผลิตที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ Apple โดยตั้งบริษัทลูกขึ้นมาเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ที่จะ enable ให้ Foxconn สามารถขยายเข้าไปในธุรกิจสายอื่นๆนอกจากธุรกิจสายการผลิต

แม้แต่ Foxconn เอง ซึ่งในตอนนั้นธุรกิจก็ยังไปได้สวยอยู่ ก็มองว่าตัวเองต้องเร่งปรับตัวในยุคดิจิตอล ไม่งั้นก็อาจจะหงายท้องในไม่ช้า

ด้วยความที่เข้าไปคุยกับพาร์ทเนอร์ในจังหวะนั้นพอดี ผมเองซึ่งอยากทำเรื่องเทคโนโลยีจึงเห็นโอกาสในการเป็นมือปืนรับจ้างในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์ Foxconn พอดิบพอดี

ดังคำพูดที่ว่า "Timing is everything"

จากเดิมที่จะตั้งเป็น VC แต่ในจังหวะนั้นหาได้ข้างเดียวคือฝั่งนักลงทุน แต่หา Startup ที่น่าจะมีอนาคตได้น้อย และประกอบกับโอกาสจาก Foxconn ที่กำลังจ่ออยู่ตรงหน้า

เมื่อสถานการณ์อยู่ตรงหน้าเช่นนี้ ผมจึงพลิกแนวธุรกิจทันที และเริ่มคุยกับพาร์ทเนอร์เรื่องการเสนอตัวเข้ามารับช่วงพัฒนาเทคโนโลยีปั้นทีม Engineeringให้กับ Foxconn ซึ่งก็ตรงกับสิ่งที่เขาต้องการในตอนนั้น และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

ปัญหาเล็กๆที่ตามมาคือ…

"ผมไม่มี Engineer หรือ Programmer เลยแม้แต่คนเดียว"

ที่ว่าผมได้มีโอกาสกลับมาเขียนโค้ดทำ Programming นั้น ผมคนเดียวไม่เพียงพอต่อการรับงานช้างขนาดนี้ ผมต้องมีทีมที่ใหญ่พอ และต้องมีให้เร็วเพื่อไม่ให้พลาดโอกาสในการรับงานครั้งนี้

หลังจากนั้นผมไม่ทำอะไรนอกจากพยายามหาคนมาร่วมทีม โทรถามทุกคนที่รู้จัก ไปทุกงานที่มี job fair และจะด้วยบุญที่ผมทำไว้ก่อนหน้านี้หรือดวงก็แล้วแต่ ปาฏิหาริย์มีจริง และปาฏิหาริย์ก็ได้เกิดขึ้น

จากไม่มีคนเลยแม้แต่คนเดียว ผมรับ Engineer เข้ามาได้ถึง 20 คนภายในเวลา 6 เดือน

น้องชุดแรกๆที่เข้ามาร่วมงานกันนั้นมาสัมภาษณ์ทั้งๆที่ออฟฟิศว่างเปล่ามีโต๊ะอยู่แค่สองตัว

และเนื่องจากรับคนเข้ามาเร็วมากอย่างไม่คาดคิด ภายใน 1 ปี เราย้ายออฟฟิศไป 3 ครั้งเพื่อให้ขนาดเพียงพอกับคนที่มากขึ้น

จริงๆต้องขอบคุณพี่ๆและเพื่อนๆที่รู้จักที่ช่วยผมหา Engineer ในตอนนั้นได้อย่างทันท่วงที ถึงทุกวันนี้ผมยังรู้สึกติดหนี้บุญคุณเขาเหล่านั้นอยู่ และเมื่อมีโอกาสก็จะหาทางตอบแทนบุญคุณอยู่เสมอ

และแน่นอนชื่อ Foxconn ซึ่งเป็นบริษัทใหญ่และมีชื่อเสียง ก็เป็นตัวดึงดูดที่สำคัญอีกอย่างนึง

สิ่งที่น่าทึ่งเมื่อผมมาย้อนคิดกลับไปก็คือ ตอนแรกผมคิดว่างานที่เรารับจะเป็นส่วนงาน Engineering ทั่วไปที่ Foxconn มีคนไม่พอมาทำ พูดง่ายๆคือมาช่วยแบ่งเบางานที่ไม่ยาก แต่เขามี capacity ไม่พอ

แต่เอาเข้าจริงๆปรากฏว่าทีมเรามี advanced skills หลายอย่างที่เขาขาด กลายเป็นว่างานที่เขาให้เราทำเป็น core technology ที่เป็นแก่นหลักของระบบ และเป็น advanced technology

ทีมไทยเราในตอนนั้นเป็นหัวกะทิที่เป็นดาวเด่นใน Foxconn

Engineer จีนเก่งๆทั้งหลายใน Foxconn ให้การยอมรับและให้เกียรติทีมเราเป็นอย่างมาก ถึงขั้นเคยส่งทีม Engineer จีนมาฝึกงานจากทีมไทย เป็นความภาคภูมิใจของพวกเราทุกคนในตอนนั้น

ส่วนพาร์ทเนอร์ซึ่งมาจาก Silicon Valley ต้นตำหรับแหล่ง Advanced technology ทั้งหลาย ซึ่งเป็นคนชักนำให้เข้ามารับงานจาก Foxconn ก็ยกนิ้วให้ทีมไทยทีมนี้เช่นกัน

สรุปว่าจากงานนี้ เราเริ่มเห็นว่า Engineer ไทยก็พอสู้เขาได้ในเวทีโลกถ้ามีเวทีให้เล่น แต่ก็คิดในใจว่าเราเองก็ต้องพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ ไม่หลงระเริงคิดว่าตัวเองแน่อยู่เฉยๆได้

ในการแข่งขัน Foxconn Olympics (จำชื่อจีนไม่ได้) ซึ่งเป็นการประกวดแข่งขันผลงานเทคโนโลยีของทีม Engineer ทั้ง Foxconn (ตอนนั้นมีพนักงานประมาณ 1.5 ล้านคน) เราได้รางวัลที่ 2 ทั้งที่เราได้รับแจ้งให้เตรียมการแข่งขันล่วงหน้าในเวลาแค่ 3 เดือน ในขณะที่ทีมอื่นของ Foxconn เตรียมกันมาทั้งปี เพราะเป็นงานที่แข่งกันทุกปี

จริงๆถ้าให้เราเตรียมมากกว่านี้เราน่าจะได้เป็นที่ 1

แต่จริงๆแล้วรางวัลเหล่านั้นก็ไม่ค่อยสำคัญสักเท่าไร เพราะสิ่งที่ผมและน้องๆทีมงานทุกคนต้องการมากกว่ารางว้ล ก็คือการได้ทำเทคโนโลยีที่ถูกนำไปใช้จริงและมี Positive Impact กับชีวิตคน

ตลอดระยะเวลาหลายปีที่เราได้ทำงานพัฒนาเทคโนโลยีให้กับ Foxconn นั้น เราได้เข้ามาจับเทคโนโลยีที่น่าตื่นเต้นมากมาย และด้วยความที่ Foxconn เป็นพาร์ทเนอร์กับบริษัทเทคโนโลยีดังๆทั่วโลกมากมาย คนดังๆ อย่าง Terry Gou (ประธาน Foxconn), Tim Cook, Jonny Ive, Andy Rubin, Jack Ma เราก็เห็นเดินเฉี่ยวกันไปมาที่ Foxconn ในงานประจำปี หรือในการประชุมต่างๆเป็นประจำ

เป็นความตื่นเต้นที่น่าจดจำ แต่ยังไงเราก็ยังไม่เคยลืมเป้าหมายในการสร้าง Product ที่ทำให้เกิด Positive Impact ให้กับชีวิต

ด้วยธรรมชาติของการเป็นมือปืนรับจ้าง ถึงเราจะได้ทำส่วนที่เป็น core technology แต่เราไม่ได้ทำ Product ทั้งชิ้น

Core technology ที่เราทำขึ้นมาจะถูกทีมอื่นๆใน Foxconn นำไปประกอบร่างกันขึ้นมาเป็น Product อีกทอดนึง

ดังนั้นโดยมากเราจึงไม่ได้เห็น Product ที่เป็น end-product จริงๆ ซึ่งนี่เป็นนโยบายปกติขององค์กรเทคโนโลยีทั่วไปที่ต้องการเก็บความลับที่ไม่จำเป็นต้องให้คนนอก มือปืนรับจ้างอย่างพวกเราถึงจะได้รับการยอมรับในฝีมือ แต่ก็ยังเป็นคนนอก ซึ่งเราก็เช้าใจถึงเหตุผลดี

แต่ผมมองหน้าน้องๆทุกครั้งที่ brief งานกันก็พอเดาใจกันออกว่าบางทีการไม่รู้ "Point" ของงานที่ทำ ถึงเทคโนโลยีมันจะล้ำแค่ไหน ก็ทำให้ชีวิตเหมือนขาดอะไรไปบางอย่าง

"ความคัน" จึงกลับมาอีกครั้ง แต่นี้ไม่ใช่เฉพาะผม แต่คันยุบยิบกันทั้งทีม

จริงๆไม่ใช่เฉพาะแค่เรื่องนี้เท่านั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไป Business unit ของ Foxconn ที่เป็นลูกค้าเราก็ค่อนข้างมี focus ที่เบี่ยงเบนจากเทคโนโลยี หันไปทางด้าน e-commerce และเรื่อง media มากขึ้น ซึ่งจริงๆก็เป็น area ที่เติบโตและน่าสนใจ

แต่ในท้ายที่สุดเราก็อยากไปในทางที่เราต้องการมากกว่า คือเรื่องของเทคโนโลยี และการนำมันมาสร้าง Product เพื่อสร้าง Positive impact ในด้านต่างๆให้กับชีวิตคน

เมื่อถึงจุดที่เหมาะสม เราจึงเริ่ม Phase out จาก Foxconn และเริ่มมา focus ใน area ที่เราเชื่อว่ามีอนาคตทางธุรกิจ ได้มีโอกาสทำ Product ของเราโดยตรงไม่ใช่แค่เทคโนโลยี และสามารถสร้าง Positive impact ได้อย่างมากมาย ทั้งกับคนไทยและกับคนทั่วโลก

Hospital & Health

จริงๆแล้วตั้งแต่เราพลิกแนวบริษัทมาเป็นบริษัทเทคโนโลยี นอกจากทำงานให้ Foxconn ก็มีโอกาสทำงานขนาดย่อมๆให้กับองค์กรหลายประเภท แต่มีงานที่ทำให้องค์กรประเภทหนึ่งซึ่งเป็นที่น่าสนใจกับผมและทีมงานมากที่สุดเสมอมา องค์กรประเภทนั้นก็คือ

"โรงพยาบาล"

สาเหตุที่น่าสนใจอันดับหนึ่งเพราะ "ความยาก" ของมัน

ประสบการณ์ของทั้งตัวผมเองและน้องๆที่เป็น Senior ผ่านองค์กรมาเกือบทุกประเภท แต่ "โรงพยาบาล" เป็นองค์กรที่มีความยากน่าจะมากที่สุด ในทุกๆมิติ

ธุรกิจบริการไม่มีธุรกิจไหนมีจำนวนแผนกที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการเท่าโรงพยาบาล เอาเบาะๆคือเวชระเบียน พยาบาล แพทย์ เภสัช รังษีวิทยา Lab การเงิน ฯลฯ ตั้งแต่คนไข้เดินเข้าโรงพยาบาลจนเดินออก แต่ละแผนกต้องประสานงานกันอย่างหนักหน่วงเพื่อจบเคสคนไข้แต่ละคน

ธุรกิจขายของไม่มีธุรกิจไหนจะมีสลับซับซ้อนในการจัดการ Stock Management เท่าโรงพยาบาล

ธุรกิจใดๆไม่มีธุรกิจไหนจะมีความยุ่งยาก ซับซ้อน วุ่นวาย ในแง่ของ Billing เท่าโรงพยาบาล ธุรกิจปกติ ตัวลูกค้าเอง เป็นคนจ่ายเงินค่าสินค้าบริการที่ตัวเองซื้อ ในกรณีของโรงพยาบาลคนไข้หนึ่งคนอาจจะมี Payer ที่จ่ายค่าบริการมากมายทั้งหน่วยงานรัฐ ประกันเอกชน บริษัทต้นสังกัด ฯลฯ แต่ละคนล้วนแต่มีเงื่อนไขที่ไม่ซ้ำกัน

ธุรกิจใดๆไม่มีธุรกิจไหนที่ Domain Knowledge จะซับซ้อนเท่าโรงพยาบาลซึ่งเกี่ยวข้องกับการแพทย์โดยตรง การแพทย์เกี่ยวกับร่างกายมนุษย์ซึ่งมีความสลับซับซ้อน เกี่ยวกับยาซึ่งเป็นสารเคมีและมีความละเอียดอ่อนเช่นกัน และยังไม่นับคลีนิคเฉพาะทางที่ล้วนแล้วแต่มีความสลับซับซ้อนไม่ซ้ำแบบกัน

ด้วยความยากมหาหินเช่นนี้ ระบบสารสนเทศโรงพยาบาล Hospital Information System (HIS) ซึ่งเป็นระบบที่โรงพยาบาลทุกที่ต้องใช้ในการบริหการจัดการการให้บริการ จึงเป็นระบบมหาโหดที่แทบจะหาบริษัททำได้ยากมาก

นอกจาก "ความยาก" สาเหตุที่สองที่ทำให้โรงพยาบาลน่าสนใจสำหรับผมและทีมงานคือ โรงพยาบาลเป็น sector ที่ไทยเป็นหนึ่งใน leader ในระดับโลก

บริษัทที่ทำสายเทคโนโลยี ถ้าไม่หลอกตัวเองจนเกินไป จะตระหนักว่าบทบาทของตัวเองอยู่ที่การเป็น enabler เพื่อผลักดันให้ sector อื่นไปแข่งกับธุรกิจจากต่างประเทศได้

โอกาสที่บริษัทเทคโนโลยีไทยจะเข้มแข็งจนถึงขึ้นไปต่อกรกับต่างชาติได้ไม่ใช่ไม่มี แต่มีน้อยกว่าโอกาสที่จะผลักดันอุตสาหกรรมอื่นให้เข้มแข็งขึ้นและไปสู้กับต่างประเทศได้

ด้วยสองเหตุผลนี้ทำให้เราพุ่งเป้าหมายไปที่ "โรงพยาบาล" เป็น sector ที่เรา focus เป็นหลักเป็นลำดับถัดไป

สิ่งที่น่าวิตกคือ ไม่ว่าเราจะ focus โรงพยาบาลหรือ sector อื่นรวมกัน ด้วยความที่ Foxconn เป็นลูกค้ารายใหญ่มาก เราก็ไม่น่าจะสามารถที่จะขยายฐานลูกค้ามาแทนที่ Foxconn ได้ในระยะเวลาอันสั้น

นั่นหมายถึงถ้าจะเดินต่อไป บริษัทน่าจะต้องรีบระดมทุนจากนักลงทุนภายนอกมาเพิ่มทุนโดยเร็ว

ที่ผ่านมาผมอิดออดที่จะคุยกับนักลงทุนเพื่อ raise fund มาเสมอ ทั้งๆที่เราก็มีของดีอยู่มากมาย เพราะจากประสบการณ์ผมเองที่อยู่ในภาคการเงินมาก่อน พบว่านักลงทุนโดยส่วนใหญ่นั้นมองผลระยะสั้นเกินไป และมี mindset ของ trader มากกว่า investor

นักลงทุนส่วนใหญ่ไม่มองอนาคตระยะยาวแบบที่ผมและทีมอยากให้เขามอง ดังนั้นถ้ามีคนมาถือหุ้นที่มองต่างไปจากเรา เราก็ต้องยอม compromise วิ่งไล่สิ่งที่กำลังฮอตฮิตตอนนั้น แทนที่จะ focus สิ่งที่เรามองว่ามีอนาคตระยะยาว

แต่ผมก็เดินหน้าคุยกับนักลงทุนอยู่ดี เพื่อให้บริษัทมี option เพื่อจะพลิกธุรกิจหันมา focus ที่โรงพยาบาลอย่างที่เราตั้งใจไว้

ผมเองก็ไม่คิดว่าตัวเองจะทำบุญไว้มากขนาดนี้ เพราะมีปาฏิหาริย์เกิดขึ้นอีกครั้ง

ในระยะเวลาไล่ๆกันไม่นาน จู่ๆเราก็ได้รับงานให้เข้าไปทำระบบ Hospital Information System ถึง 3-4 โรงพยาบาลติดๆกัน ซึ่งก็ต่างคนต่างมาไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกัน แต่เป็น Timing ที่ตรงกับที่เรากำลังจะหันมา focus ที่โรงพยาบาล ราวกับว่านัดกันไว้

ด้วยเหตุนี้ทำให้เราสามารถเดินหน้าธุรกิจสายโรงพยาบาลต่อได้ โดยไม่มีความจำเป็นต้องระดมทุนเพิ่ม

มีน้องคนนึงถามผมว่า นี่ลูกค้าที่ได้ๆมานี่พี่วางแผนไว้ล่วงหน้าใช่ไหมพี่ แล้วพี่ Plan ยังไงอ่ะทำไมมันถึงมาต่อเนื่องกันแบบถูกจังหวะขนาดนี้

ผมตอบทันควัน "มึงจะบ้าเหรอ?" นึกในใจ "กูจะ Plan ได้ขนาดนี้ไหมเนี่ย"

ผมนึกในใจตอนที่ตอบลูกน้องไปว่า นี่ถ้าผมต้องพึ่งปาฏิหาริย์มากขนาดนี้ พึ่งดวงขนาดนี้ รู้งี้ตั้งแต่แรกไม่ออกจากทรูหรอกครับ ไปแทงหวยเอาดีกว่า น่าจะเสี่ยงน้อยกว่าออกมาตั้งบริษัทเยอะเลย

ทุกวันนี้ธุรกิจหลักของระบบจึงเป็นระบบ Hospital Information System (HIS) และระบบรอบข้างที่เกี่ยวข้องกับ HIS รวมถึง Mobile Application สำหรับโรงพยาบาล

ลูกค้าล่าสุดของเราที่เพิ่งขึ้นระบบอย่างเต็มรูปแบบคือ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ซึ่งเป็นสถาบันการแพทย์ในเครือโรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งเป็น 1 ใน top 3 ของไทยที่เป็น University Hospital ของไทย

สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ถูกวาง position ให้เป็นสถาบันการแพทย์ชั้นนำในระดับเอเชีย พวกเราจึงมีความภาคภูมิใจที่ได้มามีส่วนช่วยในเป้าหมายนี้ และจะทุ่มเทอย่างสุดความสามารถเพื่อให้เมืองไทยเรามีสถาบันการแพทย์ในระดับภูมิภาคตามปฎิธานของผู้ก่อตั้งสถาบันฯ

ลูกค้าอีกรายซึ่งเรามีส่วนช่วย Enhance ระบบเพื่อเพิ่มความสามารถให้คือเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ (BDMS) ซึ่งเป็นเครือโรงพยาบาลเอกชนที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 1 ของประเทศ

BDMS นั้นมีระบบ HIS เดิมที่ใช้อยู่แล้ว แต่ทีมงานเราได้รับมอบหมายให้พัฒนาระบบที่มาเชื่อมและเพิ่มศักยภาพของระบบ HIS เดิมให้มีประสิทธิภาพและตอบโจทย์คนไข้ในยุคดิจิตอลได้อย่างเต็มรูปแบบ

นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลอีกหลายแห่งที่ไม่ได้เอ่ยชื่อที่เราได้มีโอกาสเข้าไปช่วยวางระบบ HISให้แล้ว และอีกจำนวนมากที่เรากำลังเข้าไปนำเสนอ

ระบบ HIS ก็เหมือนระบบอื่นๆ ยิ่งมีลูกค้าใช้เยอะขึ้น ต้นทุนต่อหน่วยก็ถูกลง ราคาก็ถูกลง การขยายตลาดของบริษัทในครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์หลักคือเพื่อ drive ต้นทุนของระบบให้ถูกลง คุณภาพให้สูงขึ้น เพื่อให้ไทยเราได้มีระบบ HIS ที่ทันสมัยในราคาที่ไม่แพง ซึ่งจะกลับมามีผลโดยตรงต่อการให้บริการผู้ป่วยที่ดีขึ้น

ความฝันต่อไปของพวกเรา ก็คือการนำเอาเทคโนโลยีที่ดีที่สุดมาประยุกต์ใช้กับระบบ HIS เพื่อทำให้บริการของโรงพยาบาลทุกที่ๆเป็นลูกค้าเรา สามารถให้บริการผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และทำให้ผู้ป่วยหายป่วย มีสุขภาพที่ดี

และสิ่งที่พวกเราอยากให้เกิดขึ้นอีกอย่างหนึ่งก็คือการทำให้ sector โรงพยาบาลของไทยสามารถพัฒนาก้าวหน้าเพื่อให้สามารถแข่งกับโรงพยาบาลในต่างประเทศ เป็นอุตสาหกรรมหลักที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยให้เติบโตขึ้น ภายใต้การแข่งขันที่ดุเดือดในยุคเทคโนโลยี

Penta TV & Learning

ในช่วงไล่เลี่ยกับที่เรากำลังหันมาจับธุรกิจโรงพยาบาล เราก็ได้ launch สินค้าออกมาอีกตัวนึงที่แตกต่างโดยสิ้นเชิงจาก Enterprise Software อย่าง HIS หรือ Software ตัวอื่นๆที่เรามี

สินค้าตัวนี้จัดอยู่ในพวก Consumer Electronics ชื่อว่า Penta TV

Bill Gates กับ Steve Jobs เคยพูดในงานสัมภาษณ์ร่วมกันว่าสินค้าที่ดีมักมาจากสินค้าที่ Entrepreneur อยากใช้เองเป็นการส่วนตัว

Penta TV เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผมและน้องๆในทีมอยากใช้เองเป็นการส่วนตัว

แต่ไม่ใช่ว่าจู่ๆเราจะเอาคนมาทำ Product ที่อยากใช้เองตามอำเภอใจนะครับ ไม่ได้มีคนเยอะขนาดนั้น

สาเหตุที่เรา launch Penta TV ออกมาเพราะ skill ของบริษัทที่มีอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านนั้นมันตรงกับ Product ตัวนี้พอดี ไม่ว่าจะเป็นด้าน Embedded Software, Cloud computing, Video streaming, Electronics ล้วนแล้วแต่ชี้ไปที่สินค้าประเภทนี้ทุก skill

และเป็นสินค้าประเภทที่ถูกมองว่าเป็น "อนาคต" ในแวดวงเทคโนโลยี ในตอนนั้น

จะว่าไปแล้ว Internet Set-Top-Box (Internet STB) นี่เป็นสินค้าที่เป็น "อนาคต" มาตลอดเป็นสิบๆปี

"ปัจจุบัน" ยังไม่เคยมาถึงเลย

ในตลาดกลุ่ม Device ด้วยกัน Internet STB ถือเป็น segment ปราบเซียนมาตลอดจนถึงทุกวันนี้

Apple ที่ออกสินค้าประเภทนี้ออกมา (Apple TV) ได้ 10 กว่าปีแล้ว ทุกวันนี้ก็ treat สินค้าตัวนี้เป็น "Hobby" พูดง่ายๆคือไม่ได้ kill มันแต่ก็ไม่ได้ focus มัน เพราะมันเจาะไม่เข้า

Google พยายามเจาะตลาดนี้มาหลายครั้งหลายหน ทั้งออก Device เอง ทั้ง partner กับผู้ผลิต TV เปลี่ยนแบรนด์มาหลายอันแล้วตั้งแต่ Google TV มา Android TV และยังมี Chromecast อีกอันนึงมาแก้ขัดไปก่อน ทุกวันนี้ก็เริ่มหันไป focus Google Home มากกว่า

ยังไม่ต้องนับแบรนด์รองๆอื่นๆที่ต่างก็พยายามเจาะตลาดนี้มาเสมอมาเพราะทุกคนอยากครอง 'Living Room"

Broadband ISP เจ้าใหญ่แทบทุกเจ้าล้วนแล้วแต่มีกล่อง TV เป็นของตัวเอง ทั้งแจก ทั้งขาย ทั้ง Bundle ทำทุกวิถีทาง ลองถามคนรอบข้างดูว่ามีกี่คนที่ใช้มันจริงๆ

ยักษ์ใหญ่ทุกบริษัทที่มีปัญญาพอต่างพากันออกตัวสินค้า Internet STB รูปแบบต่างๆนานาออกมา และทุกคนต่างก็เจ็บตัวไปตามๆกัน

ผมเชื่อว่าไม่ใช่เพราะ Internet STB ไม่มี "อนาคต" แต่เพราะ Timing ที่เหมาะสมนั้นยัง "มาไม่ถึง"

ตอนที่เรา launch Penta TV ออกมาอย่างเป็นทางการเมื่อ 4 ปีที่แล้วนั้น ใจผมเองก็ยังคิดอยู่ว่า "Timing" นั้นน่าจะยังไม่ใช่ แต่สาเหตุที่ตัดสินใจ launch ออกมานั้นเพราะในแง่เทคนิคแล้วทีมได้พัฒนามันสุกงอมพอที่จะเป็น Product ที่ออกตลาดได้ สามารถตอบโจทย์กลุ่ม target segment ได้ระดับที่น่าจะเป็นธุรกิจที่เลี้ยงตัวเองได้ มีกำไร และขยายตัวได้เรื่อยๆ

ราวกับนัดกันมา Google ชิงตัดหน้าออก Chromecast ก่อนเราเปิดตัวประมาณ 1 สัปดาห์

โชคดีที่เรามีฟีเจอร์ที่มากกว่า และสื่อของ Chromecast เองก็มาไม่ค่อยถึงเมืองไทยใน version แรก ทำให้ไม่มีผลกระทบใดๆกับการยึดหัวหาดเปิดตัว Penta TV ในตลาด

หลังจากนั้นไม่นานก็มีข่าวเรื่องการให้ใบอนุญาตประกอบกิจการดิจิตัลทีวีออกมา ผลกระทบในทางบวกคือทำให้เรามีช่องเพิ่มขึ้นจาก 6 ช่องเป็น 24 ช่อง นั้นคือมีคอนเทนท์ดูได้มากขึ้นทำให้ Internet STB มีคุณค่าสูงขึ้น

ส่วนผลกระทบในทางลบเองคือ กสทช. เองก็ให้การ subsidize กล่องดิจิตัลทีวี ทำให้มีกล่องที่เป็นสินค้าทดแทน (ถึงฟีเจอร์จะไม่เหมือนกันก็ตาม) ทะลักออกมาท่วมตลาดเต็มไปหมด

ผลโดยรวมนั้นบวกมากกว่าลบทำให้โดยรวมเราสามารถขยายตลาดได้เรื่อยๆทั้งที่ไม่ได้ลงงบการตลาดแทบถล่มทลายเหมือนผู้ผลิต Consumer Electronics ทั่วไป

หลังจากนั้นไม่นาน Broadband ISP สองเจ้าใหญ่ออกกล่อง Internet STB มาถล่มกันเองเพื่อเป็นเครื่องมือในการช่วงชิงตลาด Subscription TV เราก็ได้แต่นั่งมองยักษ์ใหญ่ออกมาซัดกันโดยรอดูผลว่าจะมีผลกระทบกับเราหรือไม่

ในช่วงเดียวกันเองการใช้ Facebook เพื่อส่งเสริม E-commerce ในตลาดก็โตวันโตคืน คนใช้ Facebook ใช้ Line มากขึ้นเรื่อยๆ Lazada เริ่มเข้ามาทุ่มกวาดตลาด ตามมาด้วยปรากฏการณ์ 11Street ยึด BTS สยาม และ Shopee ออกโฆษณาติดหู ที่ทุกวันนี้บางคืนยังฝันเป็นเสียงปีปีปี้

ถ้าเปรียบเทียบ อยากให้นึกถึงคลิปที่มีคนขี่จักรยานอยู่บนถนนอยู่ดีๆ ก็มีรถฉวัดเฉวียนชนกันไปชนกันมา คว่ำบ้าง พลิกตีลังกาบ้าง ตกข้างทางบ้าง โดยจักรยานหลุดรอดไปด้วยความบังเอิญและขับตามทางของเขาต่อไปโดยอดสงสารรถที่ประสบอุบัติเหตุรอบข้างไม่ได้

ทุกวันนี้ Penta TV เป็นสินค้า Global อย่างแท้จริง ยอดขายมาจากคนไทยทุกประเทศทั่วโลก ขายตรงผ่าน website ของตัวเองเป็นหลัก เป็นโมเดล brand.com อย่างที่ตอนนี้กำลังเป็นกระแสที่นิยมกันโดยเราเริ่ม approach นี้มาตั้งแต่เริ่มเปิดตัว และมียอดขายส่วนใหญ่มาจาก word-of-mouth เพราะลูกค้าบอกต่อ

ความสำคัญของสินค้าตัวนี้ต่อบริษัทไม่ใช่ในเชิงธุรกิจเท่านั้น

บริษัทส่วนใหญ่เวลาบอกอยากจะยึดครอง "Living Room" มักจะมองจากมุมการค้าเป็นหลัก คือถ้ายึด "Living Room" ได้เป็น Device ที่บ้านจำนวนมากใช้ ก็จะสามารถขายสินค้าต่างๆเข้าไปในบ้านได้โดยคุมให้ Device นั่นโฆษณาอะไรก็ได้อย่างที่เราต้องการ

สิ่งทีเราสนใจกลับไม่ใช่โอกาสในการขายของ แต่เป็นโอกาสในการสร้าง "การเรียนรู้" ให้เกิดขึ้นในบ้าน ซึ่งเป็นสถานที่ที่เราเชื่อว่าสำคัญต่อการเรียนรู้มากกว่าโรงเรียนและสถาบันการศึกษาเสียอีก

สำหรับการเรียนรู้ในบ้านนั้น ถึงจะมีการพยายามนำรายการที่เป็น "สาระ" เพื่อเสริมการ "เรียนรู้" มากมายมาอยู่ในช่องสด แต่ช่องสดหรือ Linear TV นั้นโดยธรรมชาติเหมาะกับ content ที่คนจำนวนมากดูเหมือนๆกัน พร้อมๆกัน เช่น ข่าว ละคร เกมส์โชว์ฯ

เนื่องจากคนแต่ละคนสนใจในการเรียนรู้ที่ต่างกัน และยังว่างไม่ตรงกันอีก จึงคาดหวังได้ยากว่าจะให้คนที่สนใจเรื่องเดียวกันเปิดทีวีมาดูในรายการเดียวกัน เวลาเดียวกัน รายการสาระในช่องสดจึงไม่น่าจะเป็นคำตอบในเรื่องนี้

สื่อในรูปแบบ clip video นั้นกลับเหมาะสำหรับการเรียนรู้มากกว่า

แต่ข้อจำกัดของสื่อแบบนี้คืออุปกรณ์ที่คนใช้ในการดู clip อย่างสมาร์ทโฟน หรือ แท็บเล็ตนั้นเหมาะกับการดูคลิปสั้นๆ แต่ไม่เหมาะกับการดูสื่อที่ใช้ส่งเสริมการเรียนรู้ซึ่งมักเป็น long-form video content

ไม่ค่อยมีใครนั่งจ้องสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตได้นานๆโดยไม่มี message อะไรมาขัดจังหวะเลย และบางทีเราก็ต้องใช้อุปกรณ์ทำอย่างอื่นด้วย มันไม่ได้เอาไว้ดูวิดีโออย่างเดียว

อุปกรณ์ที่เหมาะกว่าก็คือ Internet STB อย่าง Penta TV

เป้าหมายจริงๆในการพัฒนา Penta TV ขึ้นมาก็คือเพื่อใช้ตอบโจทย์ในการเสริมสร้างการเรียนรู้ที่บ้าน โดย blend ความรู้เข้าไปกับความบันเทิงให้ง่ายต่อการรับชม และป้อนสิ่งที่ผู้ชมอยากรู้ได้อย่างแม่นยำและถูกจังหวะเวลา

เป้าหมายท้ายสุดคือ "เพิ่มช่วงเวลาที่คนจะได้เรียนรู้ ให้ขึ้นมาเท่าเทียมกับช่วงเวลาที่จะหาความบันเทิง"

สำหรับผมและทีมแล้ว ไม่ได้มองโจทย์นี้ว่าง่ายเลย เกมส์นี้เป็นเกมส์ยาวแน่ๆ แต่เราก็มองว่ามันคุ้มค่าที่จะเดิมพัน เพราะปัญหาเกือบทุกอย่างบ้านเราที่เรายังแก้มันไม่ได้ มันมักจะย้อนกลับมาที่เงื่อนไขเดียวกันคือ "ต้องทำให้คนไทยฉลาดขึ้น"

Teamwork

สิ่งที่เป็นหัวใจของทุกบริษัทไม่ว่าจะทำธุรกิจอะไรก็คือ "คน"

และสิ่งที่สำคัญกว่า "คน" ก็คือ "ทีม"

สิ่งที่ผมภูมิใจมากเกี่ยวกับบริษัทไม่ใช่ว่าเรามียอดอัจฉริยะที่ไปชนะโน่นนี่นั่นมา ทั้งๆที่จริงๆเราก็มีน้องๆหลายคนที่เก่งมากจนอาจจะใช้คำนั้นได้อยู่หลายคน

สิ่งที่ผมภูมิใจคือความเป็น "Teamwork" ที่ผมไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน มันอาจจะเป็นเรื่องบังเอิญที่จุดเริ่มต้นของบริษัทเป็นทีมที่เคยร่วมงานกันมาบ้าง และมีวิธีการทำงานที่เป็น Teamwork ที่ดีมาตั้งแต่ต้น

เมื่อจุดเริ่มต้นดีก็กลายเป็นวงจรบวก เมื่อเราสัมภาษณ์พนักงานใหม่เข้ามา ก็ถูกกรองด้วยคนเดิม และทำให้เรามักได้คนประเภทคล้ายๆกันคือเป็น Team player ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สำคัญมากถึงมากที่สุดในการคัดคนเข้ามาทำงาน

Software House & "Digital Age"

ก่อนหน้านี้เวลามีคนถามว่าบริษัททำอะไร ผมมักจะอึ้งไปและตอบไม่ถูก เพราะสิ่งที่เราทำนั้นมีความหลากหลายมาก จะให้นั่งเล่าสินค้าทุกตัวก็ยาวไป ครั้นจะเอาคำใหม่ๆอย่าง Venture Builder หรือคำอื่นๆที่คล้ายๆกันมาเป็นคำตอบ ก็ต้องไปนั่งอธิบายคำใหม่ที่ว่านั่นอีก กลายเป็นอาจจะยิ่งเหนื่อยกว่าเดิม

หลังๆเลยไม่ค่อยได้ไปออกงาน ออกสื่อที่ไหนเกี่ยวกับบริษัทเท่าไร เพราะเล่าไม่ถูก

แต่ทุกวันนี้ถ้ามีคนถามอีก ผมมีคำตอบสั้นๆแล้วครับ ว่าบริษัทเราเป็น "Software House"

พอพูดคำนี้หลายๆคนอาจจะเบือนหน้าหนี

เพราะบรรดาคนที่ออกมาทำ Startup หลายคน ต่างก็มีประสบการณ์หนีตายมาจากการทำธุรกิจ Software House ซึ่งต่างก็ว่าเป็นธุรกิจที่ชีวิตบัดซบเหมือนผู้รับเหมาก่อสร้าง แค่เปลี่ยนจากงาน Civil มาเป็นงาน Software

ทำไปก็ไม่โต มีแต่โอกาสขาดทุน

ผู้ใหญ่ที่รู้จักและรักผมคนนึงเคยเตือนด้วยความห่วงใย และเคยถึงขั้นบอกผมว่านี่คือธุรกิจที่ไม่ต่างจากการเป็น "อีตัว" คือลูกค้าจะให้ทำอะไรก็ต้องทำ

ผมเองก็พร่ำสอนลูกน้องมาตลอดว่าเราจะต้องไม่เป็น Software House ด้วยข้อเสียต่างๆที่เขาว่ากันมา และจากที่เห็นชะตากรรมของบริษัท Software House อื่นๆ

จนวันนึงผมถึงเริ่มตกผลึก เนื่องจากถ้าว่าไปแล้ว จริงๆเราก็นับเป็น Software House มาตั้งแต่เริ่มทำให้ Foxconn นั่นแหละ ถึงลูกค้ารายนี้จะเป็นบริษัทต่างชาติมีชื่อเสียง งานเป็น R&D เทคโนโลยี Advanced แต่งานมันก็คือการทำ Software ตาม Requirement นั่นเอง

ยังโรงพยาบาลอีกตั้งหลายโรงพยาบาล บริษัทใหญ่ๆอีกหลายรายที่เข้ามาเป็นลูกค้า เราก็ทำ Software ให้เขาตาม Requirement เหมือนกัน มันก็งาน Software House นี่นา

บริษัทมันก็ยังอยู่ดีนิ โตขึ้นเรื่อยๆอย่างมั่นคง ลูกค้าก็คุยกันรู้เรื่อง งานก็ทยอยเพิ่มเข้ามาเรื่อยๆ

ผมเพิ่งมาคิดได้ว่าที่บริษัทสามารถเติบโตมาได้ตลอด และได้รับความไว้วางใจจากลูกค้า ก็น่าจะมาจากที่ว่าเราไม่ได้มองตัวเองเป็น Software House ที่หน้าที่คือการทำ Software นี่แหละ

สิ่งที่เรามองว่าเป็นหน้าที่ คือการ Solve Problem "แก้ปัญหา" ให้ลูกค้า โดยมี Software เป็นแค่เครื่องมือในการแก้ปัญหา

ลูกค้าอาจจะ "ซื้อ" Software จากเราแต่สิ่งที่เขาต้องการคือ "การแก้ปัญหา"

เราจึงเน้นเรื่องการแก้ปัญหาเป็นหลัก ดังนั้นแม้ว่า Software จะทำได้ตาม Requirement แต่งานจะยังไม่เสร็จตราบใดถ้าปัญหายังไม่ถูกแก้

Motto ของบริษัทจึงเป็น "The Problem Buster" เพื่อเตือนใจเสมอว่าเราทำหน้าที่แก้ปัญหา ไม่ใช่ผลิตซอฟท์แวร์ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาขององค์กรซึ่งเป็นลูกค้าหลักของเรา หรือจะเป็นปัญหาของผู้บริโภคที่เราแก้ด้วย Consumer Electronics หรือ Content ในรูปแบบต่างๆ

โดยปัญหาที่เราต้องการแก้เป็นพิเศษคือ สุขภาพ, การเรียนรู้, และคุณภาพชีวิต

ซึ่งเราก็มีซอฟท์แวร์ที่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้แล้วเป็นจุดตั้งต้น และพัฒนาต่อยอดเพื่อให้แก้ปัญหาที่มีเฉพาะเจาะจงของลูกค้าแต่ละราย

ในยุคดิจิตัล "Digital Age" ทุกคนต่างบอกว่าไทยต้องมี Startup มากกว่านี้ เราต้องมี Unicorn ให้เทียบชั้นกับเพื่อนบ้านเรา

จริงๆแล้วสิ่งที่เราขาด ไม่ได้มีแค่ Startup

สิ่งที่เราขาดเป็นอย่างมากคือ Software House ที่ดีมีคุณภาพ

การจะผลักดันให้ประเทศเข้าไปแข่งขันในยุคที่เทคโนโลยีกำลังพลิกทุกอุตสาหกรรม โมเดล Startup เพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ

เรายังขาดบริษัทอย่าง Software House ที่จะช่วยเอาเทคโนโลยีมาพัฒนากระบวนการ เพิ่มคุณภาพบริการ และผลักดันอุตสาหกรรมที่มีอยู่แล้วให้แข่งกับโลกได้ด้วย

หวังว่าประสบการณ์ที่ผมเล่ามาจะเป็นประโยชน์กับผู่อ่าน และหวังว่าสักวันนึงเราคงจะมีโอกาสได้ร่วมงานกันนะครับ 🙂