คำแนะนำจากปากสตีฟ จอบส์
จนถึงทุกวันนี้ สตีฟ จอบส์ ก็ยังเป็น CEO บริษัทเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก สตีฟ จอบส์ ได้สร้างการปฏิวัติหลายครั้งในหลายวงการไม่ว่าจะเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ PC (Apple 2, Mac), ภาพยนตร์แอนิเมชั่น (Pixar), อุตสาหกรรมเพลง (iPod, iTune), สมาร์ทโฟนและอุตสาหกรรมโทรคมนาคม (iPhone, iPad)
ผู้ที่ติดตามเรื่องราวของ สตีฟ จอบส์ คงได้รับฟังสูตรสำเร็จของสตีฟ จอบส์ จากนักเขียน นักวิเคราะห์ นักวิชาการ หลากหลายสำนัก แต่น่าแปลกใจที่คำแนะนำตรงจากปากสตีฟ จอบส์ เองกลับยังไม่ถูกหยิบยกมาพูดถึงกันเท่าไร
บทความนี้เป็นการถอดความบทสัมภาษณ์ที่ดีที่สุดของสตีฟ จอบส์ ในสายตาผม ซึ่งน่าแปลกที่การสัมภาษณ์ที่ผมคิดว่าดีที่สุดครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงชีวิตที่ตกต่ำที่สุดของสตีฟ จอบส์คือช่วงปี 1995 ช่วงที่สตีฟเป็น CEO ของบริษัท NeXT Computer บริษัทซึ่งกำลังร่อแร่ของเขา หลังจากนั้นปีครึ่ง Apple ก็เข้ามาซื้อ NeXT และเป็นจุดหักเหที่เขาได้กลับมาเป็น CEO ของ Apple อีกครั้ง ก่อนที่จะเข็น Product มากมายมาเป็นขบวนตั้งแต่ iMac, iPod, iPhone, iPad ออกมา
การที่สตีฟอยู่ในช่วงที่ตกต่ำที่สุดอาจจะเป็นสาเหตุให้สิ่งที่เขาถ่ายทอดออกมาค่อนข้างตรงไปตรงมา ไม่มีกั๊ก ไม่มี hidden agenda ในการสร้างภาพพจน์ใดๆ ในวิดีโอเองเขาก็สารภาพว่าเขามองตัวเองเป็นแค่ผู้สังเกตุการณ์มากกว่าจะสร้าง Impact อะไรได้มากมายในอุตสาหกรรมนี้
ส่วนตัวผมคิดว่าสตีฟให้สัมภาษณ์ครั้งนี้แบบแบหมดเปลือกและมีคุณค่าเป็นอย่างมากกับผู้ประกอบการรุ่นหลังที่จะเดินตามรอยเท้าสตีฟ จอบส์ โดยผมได้สรุปเป็นข้อๆโดยเรียงตามความเกี่ยวเนื่องของคำแนะนำ (ไม่ได้เรียงตามลำดับคำถามในบทสัมภาษณ์) ดังนี้
ระวังไม่ให้ Sales & Marketing มาลดบทบาทของ Product
สตีฟ จอบส์ อธิบายว่าการที่บริษัทเทคโนโลยีที่เคยรุ่งเรืองหลายบริษัทอย่าง IBM, Xerox PARC พลาดตกขบวนรถไฟและกลายเป็นลูกไล่บริษัทเกิดใหม่ที่มาทีหลัง ว่ามีสาเหตุมาจากการที่บริษัทเหล่านั้นสำเร็จจนครองตลาดเป็น Monopoly การพัฒนา Product ให้ดีขึ้นถูกมองว่าไม่สำคัญเท่าการเพิ่มยอดขาย
ด้วยเหตุนี้แผนก Sales & Marketing จึงขึ้นมากุมบังเหียนบริษัทแทน ในขณะที่แผนก Product ถูกลดบทบาทลง ไม่นาน Product ของบริษัทที่เคยเป็นผู้นำก็วิ่งตามบริษัทอื่นไม่ทันและกลายเป็นผู้ตามไปในที่สุด
ฟังคำอธิบายนี้แล้วหลายคนอาจจะแปลกใจ เพราะภาพในใจหลายๆคนของสตีฟ จอบส์ คือนักการตลาดที่เก่งที่สุดคนหนึ่งของโลก แต่สตีฟกลับมองว่าสำหรับบริษัทเทคโนโลยีแล้ว Product จะต้องนำ Sales & Marketing เสมอ ไม่ใช่กลับกันถ้ายังอยากคงความเป็นผู้นำ
ถ้าลงไปดูการดำเนินงานที่ผ่านมาของ Apple ในช่วงที่สตีฟ จอบส์ยังอยู่จะพบเขาให้ความสำคัญกับทีมที่ทำ Product เหนือทีมอื่นๆ เป็นที่ทราบกันว่าทีมวิศวกรของ Apple เป็นผู้นำในหลายๆเรื่องในโลกเทคโนโลยี สตีฟ เองถึงกลับจงใจจำกัดงบการตลาดของ Apple เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทเทน้ำหนักไปที่การโปรโมทสินค้าให้ดูดี (ซึ่งทำง่ายกว่า) จนลืม focus การพัฒนา Product ให้ดีขึ้นจริงๆ
ไอเดียเป็นแค่เสี้ยวหนึ่งของความสำเร็จ
สตีฟวิจารณ์ผู้บริหารบริษัทจำนวนมากที่คิดว่าแค่มีไอเดียดีก็สำเร็จไปมากกว่า 90% แล้ว หลังจากนั้นก็แค่โยนให้ลูกน้องไปทำตามไอเดียหัวหน้า
ในความเป็นจริง ไอเดียเริ่มต้นเป็นแค่เสี้ยวหนึ่งของความสำเร็จเท่านั้น หลังจากมีไอเดียเริ่มต้นแล้วงานแค่เพิ่งเริ่ม ขั้นหลังจากนั้นคือการแก้ปัญหาร้อยแปดพันประการในทุกๆเรื่องเพื่อทำให้ไอเดียนั้นเกิดเป็นสินค้าจริงๆขึ้นมา เมื่องานเริ่มเดินไป ความรู้และความเข้าใจก็กลับมา evolve ไอเดียนั้นไปเรื่อยๆ บางทีก็เป็นไอเดียที่ดีขึ้นไปอีก หรือบางทีก็เป็นไอเดียที่ practical มากขึ้น เป็นไปได้มากขึ้น
ท้ายสุด Product ที่ออกมาจริงมักไม่ตรงกับไอเดียแรกเริ่ม ดังนั้นควรให้น้ำหนักกับไอเดียแรกเริ่มอย่างพอเหมาะ ไม่ควรให้มากเกินไป
สตีฟเปรียบเปรยว่าการพัฒนา Product เหมือนเอาหินหลายๆก้อนโยนลงไปในเครื่องขัดหิน (Rock Tumbler) แล้วให้หินมาขัดกันเองจนเรียบเนียน การพัฒนา Product เป็นการที่ทีมที่ประกอบด้วยคนหลายทักษะ หลายความคิด เข้ามาถกเถียงกัน แก้ปัญหาร่วมกัน ด้วยเงื่อนไข 5,000 อย่าง (เปรียบเปรย) บางครั้งทะเลาะกันบ้าง จนได้เป็น Product ที่เนียนใช้งานง่ายออกมา
ข้อคิดนี้เป็นข้อคิดที่สำคัญมากสำหรับผู้บริหารที่อยู่แต่ในห้องประชุมคุยกันแค่เรื่องไอเดียหรือคอนเซ็ปต์ของ Product โดยไม่รู้ว่าขั้นตอน execute หลังจากนั้นคือขั้นตอนที่สำคัญยิ่งกว่า และต้องให้ความใส่ใจมากไปกว่าในขั้นคิดไอเดียเสียอีก
เนื้อหางานสำคัญกว่ากระบวนการ
สตีฟอธิบายว่าบริษัทหลายแห่งเข้าใจผิดคิดว่าพอจัดตั้งกระบวนการในการพัฒนา Product ขึ้นมา เป็นขั้นตอนตามหลักการ หลังจากนั้นคุมกระบวนการให้ดี ให้เดินตามแผนงานที่วางไว้ก็จบ หลังจากนั้นก็จะได้ผลลัพธ์ออกมาตามที่คาดหวังและประสบความเร็จได้
ในทางปฎิบัติ สตีฟกล่าวว่าเนื้อหางาน (content) สำคัญกว่ากระบวนการ (process) เพราะกระบวนการพัฒนา Product ต่างจากกระบวนการผลิตซึ่งทำไปตามขั้นตอนก็จะได้ของออกมาตามแบบ การพัฒนา Product ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์และความเข้าใจในการใช้งาน ซึ่งจะค่อยๆผุดขึ้นมาระหว่างการทำงาน บางครั้งกำหนดขั้นตอนเป๊ะๆแบบการผลิตไม่ได้
ดังนั้นในการพัฒนา Product การสักแต่ทำไปตามขั้นตอนให้ครบตามกระบวนการจึงมักไม่ได้ผลลัพธ์เป็น Product ที่ดีออกมา ควรต้องดูเนื้อหาและผลลัพธ์ที่ได้จากการทำงานแต่ละขั้น และปรับการดำเนินงานให้เข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละขั้นมากกว่าจะติดยึดกระบวนการแบบตายตัวไม่ยืดหยุ่น
ความสำคัญของ Taste
ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่สตีฟพูดบ่อยมากทั้งการสัมภาษณ์ครั้งนี้และครั้งอื่นๆ ด้วยประโยคเด็ด “Ultimately, it comes down to taste” นอกจากนี้เขายังเหน็บบิล เกตส์ คู่กัดเจ้าของ Microsoft ลับหลัง (แต่ออกสื่อ) บ่อยๆว่า “They just have no taste”
สิ่งที่สตีฟพยายามจะสื่อคือจะทำ Product ให้ได้ดีนั้นจะรู้แค่เรื่องที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีของ Product นั้นอย่างเดียวไม่พอ แต่จะต้องเข้าใจบริบทการใช้ของ Product นั้นๆด้วย
เขาหยิบยกเอาทีมงานของ Macintosh ซึ่งประกอบด้วยคนที่มีความรู้หลากหลาย ไม่ได้เป็นแค่นักคอมพิวเตอร์แต่ยังมีความเป็นนักดนตรี, กวี (Poet), ศิลปิน (Artist), นักสัตวศาสตร์ (Zoologist) นักประวัติศาสตร์ การการมีมุมมองที่หลากหลายทำให้ Product ที่ได้ออกมาถูกผสมผสานมุมมองต่างๆได้อย่างลงตัว และตอบโจทย์คนเหล่านี้ได้
คำแนะนำนี้ไม่ได้หมายความว่าทุกๆบริษัทจะต้องตั้งหน้าตั้งตาไปจ้างนักดนตรีหรือนักประวัติศาสตร์เข้ามาร่วมทีมเสมอไป แต่หมายถึงการที่ทีมงานจะต้องประกอบด้วยคนที่ไม่ได้มีความรู้แคบอยู่แค่เรื่องเทคโนโลยีที่ใช้ แต่ต้องประกอบด้วยคนที่เข้าใจผู้ใช้งาน Product ที่กำลังสร้างขึ้นมาด้วย
เช่น บริษัทที่ทำซอฟทแวร์สำหรับผูรับเหมาก่อสร้างก็น่าจะมีคนที่เคยทำงานรับเหมาก่อสร้าง หรือเข้าใจผู้รับเหมาก่อสร้างเป็นอย่างดี บริษัทที่ทำซอฟท์แวร์สำหรับนักบัญชีก็น่าจะมีนักบัญชีอยู่ในทีม บริษัทที่ทำซอฟท์แวร์สำหรับโรงพยาบาลก็น่าจะมีคนที่ทำงานในสายงานโรงพยาบาลด้วยเป็นต้น
การทะลายกรอบความคิดเดิมด้วยคนนอก
สตีฟ เล่าว่าหลังจากที่เขาได้ไอเดียในการสร้าง PC ที่ใช้ Graphical User Interface (GUI) จาก Xerox PARC แล้วเขาก็มาพยายามผลักดันให้ Apple สร้าง PC ในรูปแบบใหม่ที่ใช้ GUI แทน PC เดิมที่เป็น Text Mode แต่ผลักเท่าไรก็ติดไปทุกอย่างเพราะคนของ Apple ในตอนนั้นซึ่งส่วนใหญ่ย้ายมาจาก HP ยังติดกรอบความคิดเดิม แม้จะให้ทำของง่ายๆอย่าง Mouse ยังทำไม่ได้
สิ่งที่สตีฟทำในตอนนั้นคือไปหาคนนอก (หรืออาจจะเรียกว่าคนนอกคอก) ที่คิดนอกกรอบเดิมๆของบริษัทและว่าจ้างบริษัท David Kelley Design (ภายหลังคือบริษัท IDEO) ซึ่งด้วยความที่ไม่ติดกรอบใดๆ ก็สามารถออกแบบ Mouse ได้อย่างรวดเร็วและมีราคาถูก ทำให้ Apple สามารถพัฒนา PC รุ่นใหม่ที่ใช้ GUI ได้สำเร็จ นำหน้าคู่แข่งรายอื่นๆถึง 10 ปี
ในการทำสิ่งใหม่ๆบางครั้งกรอบความคิดเดิมๆอาจจะเป็นอุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ ดังนั้นเราจึงต้องมองให้ออกว่าเวลาไหนควรหาคนนอกมาเติมในทีม ไม่ว่าจะในบทบาทของ Outsource หรือ เข้ามาอยู่ในทีมเลย เพื่อทะลวงกรอบความคิดเก่าให้สลายไป
ความสำคัญของซอฟท์แวร์
คนมักจะคิดว่าสตีฟและ Apple คือบริษัทที่ focus เรื่องฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์ที่จับต้องได้ น้อยคนจะรู้ว่าสตีฟมองออกมาตลอดว่าซอฟท์แวร์คือหัวใจสำคัญของ Apple และบริษัทเทคโนโลยี สตีฟ ให้เหตุผลว่า Dynamic Range ของซอฟท์แวร์ คือเทียบความสามารถของคนที่เก่งที่สุดและค่าเฉลี่ยอาจต่างกันได้สูงถึง 50 หรือ 100 เท่า ซึ่งไม่เหมือนจากสาขางานอื่นๆที่อาจจะต่างกันแค่ 2 เท่าเป็นอย่างมาก
นั่นหมายความว่าซอฟท์แวร์เป็นสิ่งที่ขับเคลื่อน Product ให้โดดเด่นได้มากกว่า component ส่วนอื่นๆ สตีฟและ Apple จึงให้ความสำคัญอย่างมากต่อซอฟท์แวร์ เช่น iOS (ระบบปฏิบัติการของ iPhone, iPad) ซึ่งทำให้สินค้าที่ Apple นำออกมาหลังคู่แข่งไม่ว่าจะเป็น iPhone, iPad โดดเด่นและเอาชนะ Product ที่มาก่อนอย่าง Nokia, Blackberry, Tablet ที่ใช้ OS ของ Microsoft ได้อย่างขาดลอย
ทุกวันนี้ไม่ใช่แค่ธุรกิจเทคโนโลยี แต่ธุรกิจทุกอย่าง ถูกขับเคลื่อนด้วยซอฟท์แวร์ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของโมบายแอพก็ดี ซอฟท์แวร์องค์กรก็ดี ผู้บริหารและเจ้าของธุรกิจจึงควรใส่ใจในการเลือกและการ Implement ซอฟท์แวร์ให้ดี เพราะจากนี้ต่อไปซอฟท์แวร์จะกลายมาเป็นหัวใจของธุรกิจทุกประเภทโดยเฉพาะธุรกิจบริการ
การให้ Feedback กับทีมงาน
ประเด็นนี้เป็นหนึ่งในประเด็นที่ผมเห็นต่างจากสตีฟ จอบส์ ซึ่งเห็นว่าการ feedback งานกับทีมไม่ต้องโอ๋มาก ด่าไปแรงๆเลยจะได้รู้ ซึ่งความคิดนี้เองที่อาจจะทำให้คนเก่งๆหลายๆคนไม่สามารถอยู่กับสตีฟได้นาน หลายคนที่ภายหลังออกมาให้สัมภาษณ์ก็มองว่านี่อาจจะเป็นจุดอ่อนของสตีฟที่ด่าแรงเกินต้านจริงๆ
นักเขียนชีวประวัติของสตีฟ จอบส์บางคนวิเคราะห์ว่าเมื่ออายุมากขึ้นสตีฟนั้นค่อยๆ soft ลงเรื่อยๆ จากเดิมด่าคนเหมือนหมูเหมือนหมา พอเวลาผ่านไป ได้เรียนรู้มากขึ้น ประสบการณ์มากขึ้น ก็ค่อยๆ soft ลง
โดยเฉพาะการที่เขาได้มาบริหาร Pixar ทำให้เขาเริ่มเรียนรู้วิธีบริหารที่นุ่มนวลขึ้น (เพราะตัวเองไม่รู้เรื่อง Animation เท่าลูกน้อง เลยด่าไม่ถูก และทำให้เรียนรู้การรับฟังความเห็นทีมมากขึ้นด้วย) แต่ก็ไม่วายยังปากเสียอยู่บ้างจากบทสัมภาษณ์ของทีมงานที่ทำงานด้วยในช่วง iPod, iPhone, iPad
และนั่นอาจเป็นสาเหตุให้การกลับมาเป็น CEO ของ Apple ครั้งหลังนี้ประสบความสำเร็จมากกว่าครั้งแรกที่เขาถูกไล่ออกไป สามารถพัฒนา Product ที่ประสบความสำเร็จมากมาย
คนที่เลียนแบบสตีฟ จอบส์ไปทุกเรื่องรวมถึงความปากเสีย อาจจะต้องมาพิจารณาอีกครั้งจำเป็นต้องเลียนแบบเรื่องนี้หรือไม่ และประเด็นนี้สตีฟคิดถูกจริงหรือ?
ความสำคัญของ Focus ในการสื่อสารการตลาด
ในเรื่องการสื่อสารการตลาด สตีฟมองว่าเขาทำผิดพลาดครั้งใหญ่ตอนเปิดตัว Macintosh ที่เอาฟีเจอร์เด่นๆทุกอย่างออกมาเน้น แทนที่จะ focus ไปที่เรื่องเด่นเรื่องเดียวคือ Desktop Publishing ทำให้ผลลัพธ์ออกมาไม่ดีเท่าที่ควร
ถ้าเราย้อนไปดูประวัติ Macintosh จะพบว่าเรื่องการสื่อสารการตลาดที่ไม่ focus อาจจะเป็นหนึ่งในหลายๆประเด็นที่มีปัญหาทำให้ Macintosh ไปได้ดีแค่ช่วงแรก อาจจะมีประเด็นอื่นๆเช่นเรื่องราคาที่แรงเกินไป (ทั้งๆที่ถูกลงมากว่ารุ่นก่อนๆอย่าง Lisa แล้วก็ตาม) และอื่นๆด้วย ไม่ใช่แค่เรื่องการสื่อสารการตลาดอย่างเดียว
หลังจากสตีฟกลับมาที่ Apple ในฐานะ CEO เป็นครั้งที่สอง การเปิดตัวที่มี message ที่ focus มากที่สุดครั้งหนึ่งคือ iPod (A thousand songs in your pocket)
อย่างไรก็ดีบางครั้ง Product ของ Apple ก็ไม่ค่อยเอื้อให้สื่อสารแบบ single-minded focus แบบนี้เท่าไร ตัวอย่างเช่น iPhone (An iPod, a phone, and an internet mobile communicator, these are not three separate devices…) ซึ่งเป็นการเน้นความครบ มากกว่าจะเป็นการหยิบยกประเด็นใดประเด็นหนึ่งขึ้นมาชู
บทเรียนจากสตีฟ จอบส์ในเรื่องนี้ก็คือ be as focused as you can ใน Product ที่เราจะ launch นั่นเอง (บางครั้งไม่เหมาะก็อย่าฝืน แต่ถ้าทำได้ก็จะ effective กว่า)
ความสำคัญของ Ecosystem
สตีฟ อธิบายว่า IBM นั้นถึงแม้จะเข้ามาในตลาด PC หลัง Apple แต่กลับประสบความสำเร็จกว่า Apple ส่วนนึงมาจากการที่กลยุทธ์ IBM ในตลาด PC นั้นต่างไปจากกลยุทธ์เดิมๆของ IBM ที่พยายามทำทุกอย่างคนเดียว
ในตลาด PC IBM สร้างให้เกิด Ecosystem ขึ้นมา โดยการใช้ components จาก partner ต่างๆเช่น CPU จาก Intel, OS จาก Microsoft, Application จาก Lotus, ฯลฯ (ก่อนหน้านี้ IBM จะทำ components เหล่านี้เองหมด) ซึ่งกลยุทธ์ที่เปลี่ยนไปในครั้งนี้ของ IBM ส่วนหนึ่งอาจจะเกิดจากต้องแข่งกับเวลาเลยทำเองทั้งหมดไม่ไหว
ซึ่งกลยุทธ์นี้เป็นการสร้างแนวร่วมทำให้อีกหลายๆบริษัทลงเรือลำเดียวกัน และช่วยกันผลักดันจน IBM PC กลายเป็นผู้นำตลาดแทนที่ Apple ซึ่งมาก่อน ถ้าลำพัง IBM บริษัทเดียว สตีฟมองว่าไม่น่าจะประสบความสำเร็จ
แต่ว่าด้วยอุปนิสัยสตีฟที่มีคนวิจารณ์ว่าค่อนข้างเป็น Control Freak ถึงสตีฟจะเล็งเห็นความจริงข้อนี้อยู่ แต่ในการบริหารของเขาต่อมาก็ยังพยายามให้ Apple ทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้อยู่ดี
อาจจะมียกเว้นอยู่ครั้งหนึ่ง คือการเปิด Ecosystem ครั้งที่ใหญ่ที่สุดของสตีฟซึ่งขัดกับนิสัยของเขาสุดๆ (ลูกน้องถึงขั้นต้องรวมหัวกันขัดใจสตีฟในเรื่องนี้) ก็คือการเปิด App Store ของ iPhone ให้ third-party developer สามารถ publish App ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ iPhone เติบโตและประสบความสำเร็จแบบหยุดยั้งไม่อยู่
ความสำคัญของ First Principles
สตีฟ จอบส์ อธิบายว่าช่วงที่เขาก่อตั้ง Apple ใหม่ๆ เนื่องจากเขาไม่เคยมีประสบการณ์การทำธุรกิจมาก่อน ก็เลยพยายามเรียนรู้จากทีมงาน พยายามถามว่าทำไมถึงทำแบบนั้น แบบนี้ ท้ายสุดคำตอบที่ได้รับมักจะเป็นว่า "เพราะเขาทำกันแบบนี้"
ไม่นานเขารู้ว่าแนวปฏิบัติธุรกิจหลายๆอย่างแค่ทำตามๆกันมา คนทำงานส่วนใหญ่ก็ไม่รู้เหตุผลจริงๆ ดังนั้นแม้คนที่ไม่ได้เรียนหรือทำงานสายนี้มาถ้าสืบจนรู้ต้นสายปลายเหตุหรือ First Principles ที่แท้จริงก็สามารถหาวิธีบริหารแบบใหม่ที่ดีกว่าเดิมได้
ตัวอย่างที่เขายกเช่นการลงบัญชีต้นทุนแบบ standard cost ของ Apple ที่ต้องมาปรับกันทุกๆเดือน แท้จริงมีสาเหตุมาจากการที่ระบบ IT ทำให้ไม่รู้ต้นทุนที่แท้จริง ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง พอไปปรับระบบ IT ให้ดีขึ้นก็ทำให้รู้ต้นทุนที่แท้จริงได้ตลอดเวลา ไม่ต้องมานั่งปรับกันทุกเดือนๆเหมือนที่เคย
ดังนั้นการสืบไปหา First Principles จึงสำคัญอย่างยิ่งในการทำธุรกิจ นอกจากสตีฟ จอบส์แล้ว นักธุรกิจอีกหลายๆคน เช่น อีลอน มัสก์, บิล เกตส์ ก็เน้นย้ำความสำคัญของ First Principles ในธุรกิจเช่นเดียวกัน
เรื่องนี้อธิบายว่าทำไม CEO ที่มารับช่วงต่อจาก Founder ก็ดี ลูกหลานที่รับช่วงต่อธุรกิจครอบครัวจากพ่อแม่ก็ดี บางทีทำได้ไม่ดีเท่ารุ่นก่อน
ซึ่งสาเหตุไม่ใช่เพราะขยันทุ่มเทน้อยกว่า หรือ ไม่เก่งเท่าเสมอไป แต่อาจะเป็นเพราะไม่เข้าใจ First Principles ของธุรกิจตัวเอง (เพราะไม่ได้โตมากับมัน) ทำให้ไม่สามารถพัฒนาให้ดึขึ้นกว่ารุ่นก่อนได้ ดังนั้นคนที่รับช่วงต่อจึงยิ่งต้องให้ความสำคัญกับการเข้าใจธุรกิจตัวเองให้ถ่องแท้มากยิ่งกว่าคนรุ่นก่อน
ประเด็นนี้ผมมองว่าสำคัญที่สุดในทุกประเด็นและเป็นหัวใจที่สำคัญในการทำธุรกิจทุกประเภทคือสืบให้รู้ถึงเหตุและผลของทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ อย่าติดยึดกับแนวปฎิบัติเดิม และออกแบบบริษัท ออกแบบ Product ออกแบบทีม จาก First Principles เพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับลูกค้า
นอกเหนือจากคำแนะนำที่ผมถอดความมาให้ ยังมีเกร็ดที่น่าสนใจเกี่ยวกับประวัติและแนวคิดของสตีฟ จอบส์อีกหลายเรื่อง ถ้ามีเวลาว่าง อยากเชียร์ให้ลองดูวิดีโอนี้ตั้งแต่ต้นจนจบเพื่อซึมซับความคิดของสตีฟ จอบส์ให้ได้อย่างครบถ้วนครับ